สกัดนักท่องเที่ยว  ยื้อโควิด ระยะ3

19 มี.ค. 2563 | 01:25 น.

สกัดต่างชาติเข้าไทย-ยกเลิกหยุดยาวสงกรานต์ ยื้อเวลาแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สู่ระยะ 3 ขณะที่ 16 ชาติทยอยปิดประเทศ ฉุดธุรกิจทรุดลากยาวไม่ตํ่ากว่า 6 เดือน เอสเอ็มอีท่องเที่ยว 6 หมื่นรายฝืนต่อไม่ไหว ททท.เปิดเวทีดึงทุกแบงก์เคลียร์สินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ชงครม.คืนเงินคํ้าประกันบริษัททัวร์ 700 ล้านบาทต่อลมหายใจ

การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อรับมือและป้องกันให้ไทยก้าวเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 ช้าที่สุดนั้น ในส่วนของการเดินทางจากต่างประเทศเข้าไทย ขณะนี้มีการออกมาตรการ ซึ่งเป็นยาแรงที่ถูกนำมาใช้ ที่จะส่งผลให้เกิดการชะลอการเดินทางเข้าไทยอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการออกมาตรการที่ทำให้การเดินทางเข้าไทยเป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้นกว่าเดิม

สกัดนักท่องเที่ยว  ยื้อโควิด ระยะ3

โดยเฉพาะการยกเลิกฟรีวีซ่าของ 3 เมือง ได้แก่ ฮ่องกง อิตาลี เกาหลีใต้ และยกเลิกการตรวจลงตรา ช่องอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival : VOA)ใน 18 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม-30 กันยายนนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเข้าไทยได้ต้องขอวีซ่าที่สถานทูตต้นทางเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะผ่านช่องทาง VOA มากถึง 50%

การควบคุมนักเดินทางที่มาจาก 4 ประเทศกลุ่มเสี่ยงเกาหลีใต้ จีน (รวมฮ่องกง- มาเก๊า ) อิตาลี อิหร่าน ที่นับจากวันที่ 10 มีนาคม-9 มิถุนายน 2563 มีมาตรการพิเศษเพิ่มขึ้นที่ต้องยื่นเอกสารตั้งแต่ประเทศต้นทางก่อนที่สายการบินจะออกบอร์ดิ้งพาสให้ ได้แก่

สกัดนักท่องเที่ยว  ยื้อโควิด ระยะ3

1. จะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าไม่มีการป่วยภายใน 14 วันก่อนหน้า 2.แสดงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าไม่พบเชื้อโควิด-19 ซึ่งออกภายใน 48 ชั่วโมงก่อนทำการบิน 3.แสดงหลักฐานประกันสุขภาพ (Health Insurance) วงเงินคุ้มครองการรักษาในไทยไม่ตํ่ากว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ 4.ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2563 ทุกคนที่เดินทางจากเกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง มาเก๊า อิตาลี อิหร่าน ต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มตม.8 ผ่านแอพพลิเคชัน AOT Airport เพื่อติดตามผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในไทยผ่านทางแอพพลิเคชัน

ทั้งนี้จากมาตรการที่เข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเสี่ยง การทยอยปิดประเทศที่วันนี้มีประกาศออกมาแล้วกว่า 16 ประเทศ และการยกเลิกวันหยุดยาวสงกรานต์ปีนี้ ทำให้สายการบินต้องทยอยยกเลิกเที่ยวบินต่อเนื่อง จากเดิมที่เฉพาะเดือนมกราคม-มีนาคม มีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินรวมกว่า 9,700 เที่ยวบิน ผู้โดยสารหายไปกว่า 3 ล้านคน โดยเฉพาะเส้นทางเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจุดบินต่างๆ ที่มีชัตดาวน์ไป

สกัดนักท่องเที่ยว  ยื้อโควิด ระยะ3

จากการประเมินผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของไทยขณะนี้ ทางผู้ประกอบการนำเที่ยวมองว่าผลกระทบลากยาวไม่ตํ่ากว่า 6 เดือน สอดคล้องกับภาพรวมของธุรกิจโรงแรมไทย ที่พบว่าอัตราการจองลดลงอย่างมากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม จากการปิดประเทศในหลายชาติที่เกิดขึ้น ดังนั้นจากนี้จะเห็นธุรกิจเอสเอ็มอีท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีกว่า 6 หมื่นราย มีจำนวนแรงงานที่ทำงานในภาคท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน จะยิ่งทยอยปิดตัวลงมากขึ้นเพราะไปต่อไม่ไหว หากไม่ได้รับซอฟต์โลนก้อนใหม่อย่างเร็วด่วน

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เอกชนประเมินว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไม่ตํ่ากว่า 6 เดือน เพราะการกระตุ้นตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่ามกลางภาวะเช่นนี้เป็นไปได้ยาก เพราะคนหวั่นวิตกการเดินทาง และการยกเลิก VOA ของรัฐบาล เอกชนก็มองว่าถ้าแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสให้จบได้โดยเร็ว ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าคุมการแพร่ระบาดได้ โอกาสที่จะกลับมาทำธุรกิจก็ยังพอมีอยู่บ้าง

สกัดนักท่องเที่ยว  ยื้อโควิด ระยะ3

สิ่งที่จะประคองให้เอกชนยังพอจะสู้ต่อเพื่อรอเวลาให้กลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง คือ ซอฟต์โลนวงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่แม้รัฐบาลจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า ให้ธนาคารมาปล่อยกู้ในวงเงินก้อนใหม่ เพื่อเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่การที่ผู้ประกอบการจะไปติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอให้ปล่อยสินเชื่อก็เป็นเรื่องยาก

ดังนั้นในวันที่ 20 มีนาคมนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเป็นผู้ประสานงานติดต่อให้ทุกสถาบันการเงินมาพบกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ก็จะทำให้เอสเอ็มอีท่องเที่ยวทราบชัดเจนว่าธุรกิจของตัวเองจะได้รับการพิจารณาซอฟต์โลนก้อนใหม่นี้หรือไม่นายวิชิต กล่าวทิ้งท้าย

สกัดนักท่องเที่ยว  ยื้อโควิด ระยะ3

 

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การตรวจลงตรา ช่องอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival : VOA) จะเป็นการช่วยคุมไม่ให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะนำเรื่องเสนอครม. ที่จะขอ

มติครม.ให้กรมการท่องเที่ยว สามารถคืนเงินคํ้าประกันที่บริษัทนำเที่ยวต่างๆ นำมาคํ้าประกันไว้ เพื่อให้ธุรกิจนำเที่ยวนำเงินเหล่านี้ไปเป็นเงินหมุนเวียนในช่วงนี้และถ้าสถานการณ์โควิด- 19 ดีขึ้นค่อยนำมาคืน ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินอยู่ราว 1,400 ล้านบาท ก็จะคืนให้ 50% หรือราว 700 ล้านบาท กระจายไปตามสัดส่วนที่บริษัทนำเที่ยวใหญ่และเล็กวางไว้ไม่เท่ากัน

นอกจากนี้กระทรวงยังอยู่ระหว่างการทำแผนเสนอขอใช้งบกลางที่รัฐบาลตั้งวงเงินไว้ 2 หมื่นล้านบาทในการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะขอใช้งบราวกว่า 1 พันล้านบาท มาใช้ในโครงการซ่อมสร้างและสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยว

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19-21 มีนาคม 2563