มรสุมบึ้มใส่‘ซิโน-ไทย’ คดี‘ป.ป.ช.-อินไซเดอร์’ อยู่หรือไป

19 มี.ค. 2563 | 03:20 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3558 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 19-21 มี.ค.63 โดย...พรานบุญ

          ร้อนฉ่าไปทั้งท่านํ้านนท์ยันสี่แยกอโศก เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด 3 ราย ประกอบด้วย วรพันธ์ ช้อนทอง-ปรียา วงศ์ส่องจ้า-ศศิภัสช์ ช้อนทอง กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหุ้นบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นเพื่อซื้อขายหุ้นเอาเปรียบคนอื่นโดยไร้สำนึก

          ก.ล.ต.พ่อทุกสถาบันจึงเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 12,775,120 บาท และห้ามบุคคลทั้งสามเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

          นังบ่าง อีเก้ง นังกวาง และยายเมาธ์พร้อมใจกัน ร้องแรกแหกกระเชอมาว่า...ตายแล้วๆ หมอหนู...

          อีเห็นถามว่า ทำไมไปเกี่ยวข้องอันใดกับหมอของหนู...ผู้ประกาศให้โลกรู้ว่า มีรูอยู่ที่ไหน มีหนูที่นั่น...ละนังบ่าง

 

          นังบ่างออกลิงออกค่างชี้นิ้วด่าอีเห็นดังลั่นป่าคอนกรีตว่า...ก้อ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) มิใช่เป็นของคนในตระกูลชาญวีรกูลรึ แม้ว่า “หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข จะทำการฝากหลักทรัพย์ประเภท Equity ไว้กับกองทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทรฯ กว่า 494 ล้านบาท

          แยกเป็น STEC มูลค่า 64,285,700 บาท และ STPI หรือ บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 407,528,179 บาท

          หลักทรัพย์ประเภท Alternative อีกราว 22,279,986 บาท แต่นี่คือบริษัทของหมอหนู ที่เคยประกาศว่าคุณพ่อคือ ปู่จิ้น-ชวรัตน์ ชาญวีรกูล สร้างมาและมอบให้กับตัวเองและครอบครัว นี่นา...อีเห็น!

          ร้ายกาจกว่านั้นนะ “วรพันธ์ ช้อนทอง” เป็นถึงกรรมการบริหาร และกรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร (CFO) ของ STEC ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน เชียวนะเธอ

          วรพันธ์ แม้ไม่ใช่ “นายช่าง” เหมือนผู้บริหารคนอื่น แต่เขาคือคนที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไว้ใจ เคยได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณพนักงานดีเด่นจากมือ “อนุทิน” อดีตกรรมการผู้จัดการ เชียวแหละ!

 วรพันธ์ ทำงานร่วมกันกับ “เรวัต ฉํ่าเฉลิม” อดีตอัยการสูงสุดที่เป็นประธานกรรมการ มาศถวิน ชาญวีรกูล, อนิลรัตน์ นิติสาโรจน์, ภาคภูมิ ศรีชำนิ และ อนุทิน มายาวนาน วรพันธ์ เพิ่งมาลาออกจาก STEC เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562

          นังบ่างถลกหนังการทำงานดังๆ อย่างไม่พอใจว่า ถ้าวรพันธ์ที่เป็น CFO ซึ่งเจ้าของไว้วางใจให้ทำหน้าที่มาอย่างซื่อสัตย์ยาวนาน ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นเพื่อลดการขาดทุน และนำความไปบอก “ลูกสาว” ที่เป็นหมอโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งก็คือ “ศศิภัสช์” ให้ข้อมูลอินไซเดอร์ไปใช้ประโยชน์ในการขายหุ้น STEC เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จำนวน 91,900 หุ้น

          ยังไม่หนำใจ วรพันธ์ ได้ขายหุ้น STEC ของตนที่อยู่ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ ปรียา ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 จำนวน 1,121,000 หุ้น ทำให้ได้ประโยชน์จากการขายหุ้น STEC โดยหลีกเลี่ยงการขาดทุน จากผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 610.83 ล้านบาท ก่อนการเปิดเผยต่อสาธารณะในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ย่อมหมายถึง การล้มละลายทางความน่าเชื่อถือของฝ่ายบริหารระดับสูงของ STEC มิใช่รึ...

          หลังก.ล.ต.สั่งลงดาบ ราคาหุ้น STEC ปิดก่อนหน้า 10.50 ตอนที่เขียนปิด 10 บาท หากพิจารณาราคาสูงสุดใน 52 สัปดาห์ ยืนอยู่ที่ 27.75 บาท และราคาตํ่าสุดในรอบ 52 สัปดาห์ อยู่ที่ 9.65 บาท ถือว่า “back to basic”

 

          นังบ่างบอกว่า นี่มิใช่เป็นครั้งแรกที่ STEC โดนมรสุมว่าด้วยเรื่องธรรมาภิบาลและมีความผิดที่สะท้านใจคนทั้งประเทศ

          พฤติกรรมคนบ่งบอกได้ว่าเป็นเช่นไร 13 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย กรณีร่วมกันเรียกรับเงิน 20 ล้านบาทจากบริษัทญี่ปุ่น ที่รับว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม นครศรีธรรมราช เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า เพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ชอบ

          คดีนี้ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นฯ (STEC) รวมถึงผู้บริหารระดับสูงอีก 2 ราย ได้แก่ นายช่างภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ และ ราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ ฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดให้เจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 157

          ป.ป.ช.ระบุว่า มีข้อเท็จจริงพบว่า STEC และผู้บริหารระดับสูงคือ นายช่างภาคภูมิ และราเกส กาเลีย ได้ให้ความช่วยเหลือในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกรับสินบนจากบริษัทญี่ปุ่น จัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริง โดยให้ STEC จัดเตรียมสินบนเป็นเงินสด 20 ล้านบาท และต่อมาได้มอบเงินสินบนให้กับผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของ STEC

          วันนั้นวันเดียว ราคาหุ้น STEC ร่วงลงทันที 3.35% ลงมาอยู่ที่ 17.30 บาท ก่อนปรับตัวลงเรื่อยๆ จนราคาต่ำสุด 13.80 บาท ลดลง 3.50 บาท หรือ 19.55% มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหายไปกว่า 5,338 บาท เหลือ 21,961 ล้านบาท จาก 27,299 ล้านบาท

          คดีนี้ ทางบริษัท STEC และนายช่างภาคภูมิ ประกาศจะสู้คดีถึงที่สุด เป็นการชี้มูลเท่านั้น ยังไม่ใช่ความผิด ใครให้ร้ายจะฟ้อง!

          นังบ่างบอกว่า คดีนี้ทาง บล.ทรีนีตี้ฯ ระบุว่ากรณีนี้น่าจะถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นถูกชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช. ด้วยมูลความผิดทางอาญา และมีมติส่งคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล

          ตลาดหุ้นฯ จึงอยากจะเห็นจุดยืนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ามีมุมมองในแง่กฎหมายในกรณีที่เกิดขึ้นครั้งแรกนี้ว่าเป็นอย่างไร แต่เชื่อหรือไม่ จนบัดป่านนี้ ยังไม่มีอะไรในกอไผ่

          STEC ยังเข้าประมูลงานของรัฐได้อย่างสบายบรื๋อ สะดือจุ่น …ไร้ขีดจำกัด

          นังบ่างบอกว่า ตอนนี้เสียงคลื่นมันสาดมันซัดดังครืนๆ แว่วมาว่า กำลังได้รับงานใหญ่ทางทะเลเป็นร้อยจุด จุดละ 7-8-9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถีบบริษัทชั้นนำด้านก่อสร้างทางทะเล ของหลายคนจนกึ้ง...ไป กึ้ง มา...5555