สนามบินอังกฤษจ่อปิดระนาว วอนรัฐช่วย “ฉุกเฉิน” ต่อลมหายใจ  

18 มี.ค. 2563 | 02:46 น.

 

สนามบินหลายแห่งทั่วประเทศอังกฤษซึ่งรวมถึงสนามบินฮีทโธรว์ในกรุงลอนดอน จ่อปิดบริการภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ซึ่งจะกระทบแรงงานหลายแสนคนถ้าหากรัฐบาลยังไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

สมาคมผู้ประกอบการท่าอากาศยาน (Airport Operators Association) แห่งประเทศอังกฤษ หรือ เอโอเอ ยื่นจดหมายขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากรัฐบาลวานนี้ (17 มี.ค.) โดยระบุผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินและผู้ใช้บริการสนามบินลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่สนามบินเองก็มีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายสนามบินไม่อาจแบกรับภาระได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน สายการบินหลายรายได้ประกาศลดจำนวนเที่ยวบินและบางรายได้ลดจำนวนพนักงานลงด้วยแล้ว เช่นสายการบินนอร์วีเจียน แอร์ ประกาศปลดพนักงาน 75,000 คนเป็นการชั่วคราว สายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก ประกาศลดจำนวนเที่ยวบินลง 80% และขอให้พนักงานลาพักร้อน 8 สัปดาห์โดยไม่รับเงินเดือน ขณะที่สายการบินไรอันแอร์ และสายการบินอีซี่เจ๊ท ตัดสินใจนำเครื่องบินส่วนใหญ่ลงจอดแล้วเนื่องจากฝืนบินต่อไปก็ขาดทุน

สนามบินอังกฤษจ่อปิดระนาว วอนรัฐช่วย “ฉุกเฉิน” ต่อลมหายใจ  

แคเร็น ดี ประธานบริหารเอโอเอ ระบุในแถลงการณ์ว่า ถ้าหากรัฐบาลไม่เร่งออกมาตรการฉุกเฉินมาช่วย สนามบินหลายแห่งทั่วประเทศอังกฤษก็คงจะต้องปิดบริการภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่ทางสมาคมร้องขอจากรัฐบาลนั้น เช่นการยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการสนามบินเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาภาระให้กับผู้ประกอบการ การสนับสนุนทางการเงินแบบให้เปล่า และให้รัฐช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการปลดพนักงานท่ามกลางภาวะวิกฤติ “รัฐบาลจำเป็นจะต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือและให้ความสนับสนุนเพิ่มเติมมากกว่านี้ การที่นานาประเทศหันมาใช้มาตรการห้ามการเดินทางและผู้คนก็หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน ส่งผลให้การเดินทางทางอากาศดำดิ่งลง สนามบินในประเทศอังกฤษพยายามทำทุกวิถีทางที่จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดขนาดการลงทุนลง แต่เนื่องจากเรามีต้นทุนคงที่ในการเปิดดำเนินการ จึงจำเป็นแล้วในขณะนี้ที่จะต้องขอความสนับสนุนจากภาครัฐ”

สนามบินอังกฤษจ่อปิดระนาว วอนรัฐช่วย “ฉุกเฉิน” ต่อลมหายใจ  

แถลงการณ์ของเอโอเอยังระบุด้วยว่า สนามบินของอังกฤษเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งยวดทางเศรษฐกิจ มีบทบาทในการให้บริการแก่ประชาชน เชื่อมโยงอังกฤษกับประชาคมโลก และช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ สนามบินเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส “รัฐบาลทั่วโลกต่างให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศของตัวเองในเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเดินทางและการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของโลกมาถึงจุดชะงักงันและหยุดนิ่ง ก่อนหน้านี้สายการบินได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล และมาถึงขณะนี้ก็เป็นเวลาที่สนามบินต้องขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเช่นกัน ไม่เช่นนั้นหลายแห่งคงต้องปิดบริการในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า”

 

ทั้งนี้ สนามบินที่ร่วมลงนามในจดหมายร้องขอความช่วยเหลือที่ยื่นต่อรัฐบาลอังกฤษในนามของเอโอเอนั้น รวมถึงสนามบินฮีทโธรว์ที่เป็นสนามบินใหญ่ที่สุดของอังกฤษ มีการจ้างงานพนักงาน 70,000 คน สนามบินแกตวิค ในกรุงลอนดอน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสอง และสนามบินแมนเชสเตอร์ สนามบินบางแห่งได้เริ่มมาตรการปลดคนงานแล้ว พร้อมทั้งลดระยะเวลาเปิดทำการและลดเงินเดือนผู้บริหาร เพื่อลดต้นทุนฝ่าภาวะวิกฤติ  


สนามบินอังกฤษจ่อปิดระนาว วอนรัฐช่วย “ฉุกเฉิน” ต่อลมหายใจ  

 

การเรียกร้องของสายการบินและสนามบินในประเทศอังกฤษ เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันหลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ออกมาเรียกร้องกระตุ้นเตือนเมื่อวันอังคาร (17 มี.ค.) ให้ประชาชนงดการเดินทางหากไม่จำเป็นจริงๆ  ขานรับโดยนายโดมินิค ร้าบบ์  รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ที่ออกมาให้คำแนะนำว่า พลเมืองอังกฤษหากไม่จำเป็น ก็ควรงดการเดินทางไปยังต่างประเทศเพราะขณะนี้มีหลายประเทศที่ใช้มาตรการปิดพรมแดนและควบคุมพื้นที่อย่างเข้มงวดเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำอังกฤษได้ออกมายืนยันแล้วว่า เขามีมาตรการพิเศษที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินเพื่อประคับประคองธุรกิจฝ่าวิกฤติในครั้งนี้  โดยนายริชชี ซูแนค รัฐมนตรีคลังอังกฤษได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคังกำลังหารือกับกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับการออกมาตรการชุดพิเศษมาช่วยเหลือทั้งสนามบินและสายการบิน โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของงบกระตุ้นเศรษฐกิจสู้วิกฤติวงเงิน 330,000 ล้านปอนด์ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่สหภาพแรงงานและผู้ประกอบการสนามบินให้วามเห็นหลังรับทราบข่าวดังกล่าวว่า รัฐควรจะให้รายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือและเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วฉับไว  

 

ด้านสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ หรือ เอซีไอ ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ประกอบการท่าอากาศยานทั่วโลก ได้ยื่นจดหมายต่อสหภาพยุโรป (อียู) เช่นกัน ขอให้มีการออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินในระดับภูมิภาค เนื่องจากขณะนี้จำนวนผู้เดินทางซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสนามบินในภูมิภาคยุโรปลดน้อยลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้สำหรับปีนี้ เฉพาะในอิตาลีนั้นจำนวนผู้ใช้บริการสนามบินลดลงแล้วถึง 90%

 

เอซีไอระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรก สนามบินในยุโรปสูญเสียรายได้ไปแล้วรวมกันราว 2,000 ล้านยูโร หรือกว่า 71,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจำนวนผู้เดินทางทั้งในอียู อังกฤษ และประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรป (อีอีเอ) จะลดลงถึง 100 ล้านคนในปี 2563