“ฮาซัน อาหารทะเล” จิตสำนึกผู้นำนักขาย เพื่อชุมชน 

18 มี.ค. 2563 | 23:31 น.

ในความคิดของ “บังฮาซัน” เท่านี้ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเขา แต่...เขายังไม่สามารถหยุดได้ เพราะมีลูกทีมอีกกว่า 40 คนที่เขาทิ้งไม่ได้ และยังมีสัญญา ที่รับปากไว้กับชาวบ้าน รับปากไว้กับเพื่อน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า...“สัญญาผมไม่เคยเป็นหมัน”

อีคอมเมิร์ซ  ช่องทางการตลาดออนไลน์ที่มีมานานในเมืองไทย ได้ถูกเติมสีสันสร้างความคึกคักหนักมาก จากรูปแบบการ “ไลฟ์สด” ขายของ ที่เรียกความสนใจจากผู้ซื้อและเรียกยอดขายได้เป็นอย่างดี “บังฮาซัน” หรือ “อนุรักษ์ สรรฤทัย” วัย 30 ปี Best CEO สาขา E-Commerce ของ “ฐานเศรษฐกิจ” บอกเลยว่า ค้าขายดีที่สุด ได้เงินเร็วที่สุด และออนไลน์ก็เป็นเครื่องมือเสริมที่ทำให้การค้าขายไปได้เร็วยิ่งขึ้น เข้าถึงคนทั่วถึงมาก

“บังฮาซัน” คนนี้ เป็นลูกชาวประมง ไม่ได้ร่ำเรียนสูง เขาเรียนแค่ ม.6 แต่ด้วยจังหวะและโอกาส บวกกับความสามารถที่มี ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียง จากการเป็นพ่อค้าไลฟ์สดขายอาหารทะเล ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ในชื่อ “ฮาซัน อาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล” มียอดขายเป็นหลัก 10 ล้านบาทต่อเดือน สูงสุดที่เคยได้ทำมา คือ 26 ล้านบาทต่อเดือน

บังฮาซัน

ทำไมเขาจึงทำได้ขนาดนั้น...?

หนุ่มสตูล เล่าว่า ในช่วงที่มีโอกาสเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ไปดูแลเด็กกำพร้า ได้เงินเดือนๆละ 15,000 บาท และได้เคยเป็นพิธีกรขายสมุนไพร มีช่วงที่ลำบาก มีเงินเหลือแค่ 700 บาท ก็กลับบ้าน ช่วงนั้นมีความคิดอยากขายอาหารทะเล พอดีเพื่อนฝากให้ซื้อปลา ก็เอาเงินที่เหลืออยู่ 700 บาทไปซื้อ แต่ตอนนั้นปลาที่เพื่อนฝากซื้อไม่มี เลยไปซื้อหมึกกะตอยมา แล้วก็ลองไลฟ์สดขาย ปลาหมึก 3 กิโลกรัม ขาย 300 บาท บวกค่าส่งอีก 50 บาท ไม่ได้รับความสนใจ มีคนดูน้อย

จึงเปลี่ยนมาไลฟ์ใน กลุ่มมุสลิมพลาซ่า ก็มีคนเข้ามาดูเยอะขึ้น ตัวเขาเองก็เปลี่ยนวิธีพูด ใช้วิธีเล่นกับความรู้สึกของคน เล่าเรื่องชาวประมง คนก็สนใจ เกิดความสงสาร ก็คุยถามว่าแล้วไอ้ของที่วางบนโต๊ะคืออะไร มีเยอะไหม...ทีนี้ก็เลยเข้าทาง “บังฮาซัน” จึงเริ่มเปิดการขาย แต่กำหนดราคาใหม่ เป็น 350 บาท ส่งฟรี คนก็เริ่มสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ยอดนักขายคนนี้ รู้จักที่จะคิดพลิกแพลง ปรับวิธีการขายของเขาตลอดเวลา เมื่อขาย 300 บวกค่าส่ง 50 บาท คนจะรู้สึกว่านั่นคือภาระ ทำไมซื้อของแล้วต้องจ่ายค่าส่งอีก 50 บาท แต่พอบอก 350 บาทค่าของ ส่วนค่าส่งฟรี ความรู้สึกของคนซื้อจะดีขึ้นทันที ทำให้สินค้าขายได้ง่ายขึ้น

เมื่อขายของได้ ก็ต้องมาคำนวณต้นทุน ค้าขายต้องมีกำไรจึงจะอยู่ได้ ค่าส่งไปรษณีย์ค่อนข้างสูง เขาจึงเปลี่ยนไปส่งเคอร์รี่ ทำให้ต้นทุนการจัดส่งลดลงทันที

“ฮาซัน” บอกว่า ช่วงเริ่มต้นที่ค้าขาย ยังไม่กล้าลาออกจากงาน อย่างน้อยๆ ก็ควรต้องมีเงินเดือนประจำไว้ก่อน เพราะเขาต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ในขณะที่เริ่มต้นขายแรกๆ เงินทุนจะจม เพราะต้องนำไปซื้อของ แต่ด้วยความช่างคิด รู้จักปรับตัว เมื่อป้าเขียวเจ้าของปลาหมึก ปล่อยของให้เขาน้อยๆ ไม่ได้ เพราะมีคนรับซื้อประจำจำนวนมากอยู่แล้ว เขาจึงเปลี่ยนวิธีการ เป็นการช่วยขาย ขายเสร็จได้เงินก็เอาไปให้ป้าเขียวทันที สร้างความตื่นเต้นให้ป้าเขียวมาก

“ผมบอกป้าเขียว ผมช่วยขายก่อนได้ไหม เขาก็เอา แต่ก็ถามว่าขายยังไง ผมบอกไลฟ์สด ป้าเขียวไม่รู้ ไม่เข้าใจ กูขายปลาแห้ง ผมเลยทำให้ดู พอขายของได้ ผมก็ให้แฟนไปกดเงินสดให้ป้าเขียวเลย ป้าเขียวก็ตกใจ ป้าบอกว่า “ไอ้ซันมันฉายภาพ ได้เงินเลย”...”

จากจุดนั้น ทำให้เกิดการบอกต่อ ก็มีคนเอาสินค้ามาให้ขายเยอะแยะ เพราะชาวบ้านชาวประมงมีปัญหาอยู่แล้วว่า ขายให้กับแม่ค้าที่มารับของไป กว่าจะได้เงินคือประมาณ 15 วัน แต่ของเราขายปั๊บเราโอนเงินสดให้เลย ทำให้เขามีเงินใช้ มีเงินทุนหมุนเวียน แก้ปัญหาการดำรงชีวิตได้ ที่ผ่านมา “บังฮาซัน” สามารถทำรายได้เดือนละ 20-26 ล้านบาท ยอดขายดีสุดๆ ทำมาแล้วคือ 26 ล้านบาทต่อเดือน จากต้นทุน 700 บาท ในตอนเริ่มต้นของเขา และตัวที่ขายดีที่สุดคือ กุ้งแห้ง

เมื่อสินค้าขายได้ ยอดนักขายคนนี้ไม่ได้คิดแค่ว่าขายได้อย่างเดียว แต่เขาคำนึงถึงผู้ซื้อ ที่ต้องได้ของที่ดี เช่น การขายกุ้งแห้ง เขาบอกว่า กุ้งแห้งขายจะมีรสเค็ม หากเป็นแม่ค้าทั่วไปซื้อ เขาจะรู้วิธีเอาไปทำ ว่าต้องล้างอย่างไร ทำอย่างไร จึงจะได้กินกุ้งแห้งที่อร่อย แต่คนซื้อทั่วไปไม่รู้เพราะฉะนั้น เขาจึงกำหนดว่า กุ้งที่มาส่ง ต้องเป็นกุ้งใหม่ เนื้อหอม และถ้าทำตามสูตรเขา เขาจะรับซื้อหมด

การค้าขายผ่านโลกออนไลน์ “บังฮาซัน” จะมีวิธีคิดและปรับตัวตลอดเวลา อย่างที่เล่าไปแล้ว เขาบอกว่า บางช่วงยอดขายอืด ก็ต้องปรับวิธีใหม่ หรือบางช่วงกฎเกณฑ์ของช่องทางเฟซบุ๊กเปลี่ยน เขาก็ต้องปรับตัวอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำคนมีชื่อเสียงมาร่วมสร้างยอด การขยายกลุ่มเป้าหมายจากพ่อบ้านแม่บ้าน สู่กลุ่มวัยรุ่น จนทำให้เกิดวลีเด็ด “แม่ฉันต้องได้กินปลาอินทรีย์ แม่ฉันต้องได้กินกุ้งแห้ง” หรือการปรับเพิ่มช่องทางการขาย มีไปไลฟ์ผ่านช่องทางช้อปปี้ รวมทั้งกำลังมีความคิดที่จะสร้างตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

วิธีการค้าขายของผู้ชายคนนี้ ไม่เพียงสร้างรายได้ให้ตัวเขาเองอย่างมหาศาล แต่ยังทำให้ชาวประมงมีรายได้ชัดเจน ตอนนี้แทบทั้งจังหวัดสตูลที่ส่งอาหารทะเลให้กับเขา และยังลามไปอีก 3-4 จังหวัดโดยรอบ จนทำให้เขาเกิดไอเดีย ร่วมกับเน็ตไอดอลอีกคนหนึ่งชื่อ “บังดีน” หรือ “DEEN VLOG” หนุ่มต้นใต้ที่มาไลฟ์สดคุยเรื่องภาษาอังกฤษ พวกเขาจะรวมกลุ่มชาวเน็ตไอดอลในจังหวัดต่างๆ ช่วยชาวบ้าน หรือชุมชนต่างๆ ขายสินค้า

“ฮาซัน อาหารทะเล” จิตสำนึกผู้นำนักขาย เพื่อชุมชน 

“เมื่อก่อนเราได้เงินเดือนแค่หมื่นห้า เราก็อยู่ได้ ตอนนี้เราใช้ชีวิตมาอายุ 30 ขายของปีเดียวได้เป็น 100 ล้าน มีเงินเก็บเป็นหลาย 10 ล้าน ที่เหลือเราแค่ปรับตัวให้เข้ากับจังหวะที่มันเปลี่ยนไป ถ้าเราไม่คิดใหญ่ มันก็ไม่ต้องเจ็บใหญ่ คนเราไม่ได้อยู่เป็น 100 ปีหรอกจริงไหม”

ในความคิดของผู้ชายคนนี้ บางครั้งเขารู้สึกว่า เพียงพอแล้วสำหรับเขา อยากจะกลับไปรับเงินเดือนๆ ละหมื่นห้า แล้วใช้เงินที่เก็บสะสมไว้ตอนนี้ ก็เพียงพอแล้ว แต่...เขาไม่สามารถทำได้ เพราะมีลูกทีมที่ช่วยงานเขาอีกกว่า 40 คนที่เขาทิ้งไม่ได้ และเขายังมีสัญญา ที่รับปากไว้กับชาวบ้าน สัญญาที่รับปากไว้กับเพื่อน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า...“สัญญาผมไม่เคยเป็นหมัน”

ด้วยสำนึกรับผิดชอบ “บังฮาซัน” ในฐานะผู้นำ จึงยังเดินหน้าทำหน้าที่ของเขาต่อไป แต่จะด้วยรูปแบบไหน หรืือปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ก็คงต้องติดตามดูกัน

 

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2563

“ฮาซัน อาหารทะเล” จิตสำนึกผู้นำนักขาย เพื่อชุมชน