เศรษฐกิจติดเชื้อ: เราจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกนาน

17 มี.ค. 2563 | 04:07 น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.” [email protected]

 

ก่อนอื่นต้องขออภัยที่จบตอนที่แล้วบอกว่า จะเขียนเกี่ยวกับเรื่อง “แนวทางและนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อการหลุดพ้นจากการเป็นประเทศไม่ต้องการพัฒนาและเหลื่อมล้ำได้อย่างไร”

แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคแทรกซ้อนที่อาจจะทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะสั้นมีผลกระทบมากและยาวนานกว่าเดิมจึงขออนุญาตประเมินสภาวการณ์ปัจจุบัน และให้ข้อมูลด้านความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งความสามารถในการรับมือและแก้ปัญหา เยียวยา ฟื้นฟู ของกลไกรัฐแบบไทยไทย ที่ยากจะทำให้ทุกอย่างกลับไปที่เดิมได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดใด ที่เรียกว่า “ผ่าตัดใหญ่” โอกาสในการสร้างนวัตกรรมการเติบโตใหม่ ที่จะมาหยุดยั้งปัญหาการไม่พัฒนาของประเทศคงเท่ากับศูนย์

หลังจากการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะปริ่มน้ำมาหลายปี (อัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วงพ.ศ. 2556-2562) ซึ่งการเติบโตในอัตราดังกล่าวจะไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งไปยังกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศได้

 

ปัญหาเติบโตต่ำจึงนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่สุด

ปี พ.ศ.2563 การเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เริ่มจากสงครามการค้า สู่วิกฤตการณ์ไวรัส covid-19 เศรษฐกิจติดเชื้ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะติดลบ (negative growth)

หมายถึง เงินในกระเป๋า (อำนาจซื้อที่แท้จริง) ของคนที่อยู่ในประเทศไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่นจะตามมาด้วยการผลิตและการบริการที่ลดลง การว่างงานจะเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งภาวะเงินฝืด (deflation) ความฝืดเคืองของการจับจ่ายใช้สอย การลดลงของราคาสินค้าโดยเฉลี่ย ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจลดลง เศรษฐกิจจะหมุนช้าลง อัตราการเปลี่ยนมือของเงินจะช้าลง การผลิตและการบริการจะลดลงอีก การว่างงานจะเพิ่มขึ้น

เราเรียกภาวะสองลบ นี้ว่า “Depression” วงจรภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากลดลงของอุปสงค์อย่างเฉียบพลันและการมีผลผลิตและกำลังการผลิตส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ประการแรก การระบาดใหญ่ (pandemic) ของไวรัส covid-19 ทำให้ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับของประเทศไทยกำลังสูญเสียลูกค้าหลัก เศรษฐกิจประเทศจีนและประเทศอื่นซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสจนทำให้รายได้ลดลง ซึ่งอาจจะใช้เวลา 2-3 ปี หรือนานกว่านั้นที่จะทำให้การเดินทาง/การท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

โดยเฉพาะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563-2565 อาจจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 นั่นคือ การชะลอลงของการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนชั้นกลางในประเทศจีน ส่งผลให้จำนวนคนจีนที่เดินทางออกต่างประเทศลดลง

ประการที่ 2 เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ห่วงโซ่มูลค่าด้านการท่องเที่ยว” ของประเทศไทยอาศัยการบริการต่อหัวของคนงานสูง “บริการนวด” “บริการรถรับจ้าง” “บริการร้านอาหาร” “บริการโรงแรม” ล้วนแล้วแต่ใช้สัดส่วนแรงงานต่อรายได้สูง ประสิทธิภาพต่อหน่วยแรงงานต่ำ เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแรงงานและผู้ประกอบการจึงเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งจะส่งต่อไปยังภาคเกษตรและอาหาร ที่ผูกติดกับห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่ 3 การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี พลาสติก ได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้พลังงานลดลง ซึ่งอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศไทยนั้นถือว่ามีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศจำนวนมาก

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกสุทธิของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV ด้วย กำลังการผลิตส่วนเกิน ค่าการกลั่นที่ลดลง จะทำให้แผนการลงทุนเกิดภาวะชะงักงัน แม้ว่าในระยะสั้นผู้ประกอบการรายใหญ่จะไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แต่สำหรับผู้ประกอบการกลางน้ำและปลายน้ำที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลกระทบรุนแรง

 

ประการที่ 4 การตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรต่อเนื่องและยาวนานกว่า 5 ปี ผลกระทบที่แท้จริงที่ทำให้โครงสร้างการจ้างงานในภาคเกษตรเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย จากจำนวนผู้มีงานทำให้ภาคเกษตรกว่า 15.4 ล้านคนในปี พ.ศ.2555 เหลือเพียง 11.8 ล้านคน ในปี พ.ศ.2562 โดยการเข้าสู่สังคมสูงวัยของแรงงานในภาคเกษตรไทยมีความรุนแรงมากกว่าภาพรวมของประเทศ โดยในปี พ.ศ.2562 มีแรงงานภาคเกษตรที่อายุมากกว่า 60 ปีกว่าร้อยละ 23 ของแรงงานภาคเกษตรทั้งหมด สะท้อนถึงผลิตภาพการผลิตและผลตอนแทนจากภาคเกษตรที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลความสามารถในการเป็นดูดซับแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในอนาคตต่ำลงด้วย

ประการที่ 5 ภาระงบประมาณของภาครัฐผูกพันกับโครงการจำนวนมากที่ไม่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ทำให้ความยืดหยุ่นในการใช้เครื่องมือทางด้านการคลังผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ ไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับระบบเศรษฐกิจ

ประการที่ 6 ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ราบรื่น ดังตัวอย่างของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ การขัดแย้งในประเด็นส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค (ซาอุดิอาระเบีย) กับรัสเซีย และในกรณีของโรค covid-19 เป็นต้น

ประการสุดท้าย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Long-term bond yield) อยู่ในระดับต่ำ แต่หนี้ภาครัฐของแต่ละประเทศอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้สูงขึ้น หากอัตราผลตอบแทนดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้หลายประเทศผิดนัดชำระหนี้ได้

ไม่ช้าก็เร็วการเดินทางของระบบเศรษฐกิจที่ไม่เรียนรู้เพื่อการพัฒนาย่อมถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ ปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปัจจัยเร่งให้สถานการณ์ที่เลี้ยงไข้มาตลอดหลายปีให้สุกงอมเร็วขึ้นเท่านั้น มีเพียงคนหลอกตัวเองอยู่เสมอว่า สุขภาพยังแข็งแรงดีอยู่ สวนทางกับอายุก็มากขึ้นทุกวัน เพียงแค่สะดุดเบาๆ เราก็ล้ม ยังไม่ทันจะฟื้นไข้ เชื้อโรคใหม่ก็เวียนมาถึง จนทรัพย์สมบัติที่เก็บมาตลอดชีวิตต้องมาใช้รักษาชีวิตรอด ไม่เคยได้มีโอกาสสร้างความเข้มแข็งหรือหลักประกันให้กับคนรุ่นต่อไปเลย ถ้าไม่ผ่าตัดใหญ่ คิดแต่จะใช้ยาชุดเดิม แล้วโยนความรับผิดไปให้ผู้ป่วย เศรษฐกิจประเทศไทยจากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิมอีกแน่นอน