วางแผนการเงินส่วนบุคคล เตรียมรับมือ COVID-19 ระยะที่ 3

18 มี.ค. 2563 | 04:35 น.

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19-21 มีนาคม 2563

 

จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน และการแพร่ระบาดในระดับโลกของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ทำให้ทุกภาคส่วนคงต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต โดยการระบาดในระยะที่ 3 เป็นการระบาดในวงกว้างที่เชื้อได้แพร่ระบาดจากคนไทยสู่คนไทยด้วยกันเอง แน่นอนว่า นาทีนี้รัฐบาลโดยศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจะได้มีการเตรียมแผนรับมือกับการระบาดที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งได้มีการส่งต่อแผนงานให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมดูแลสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน แต่สำหรับพวกเราในฐานะประชาชนแต่ละคนก็คงจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วย โดยผมขอนำเสนอแผนการในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 สำหรับประชาชนทั่วไปดังนี้ครับ

 

วางแผนการเงินส่วนบุคคล  เตรียมรับมือ COVID-19 ระยะที่ 3

 

1. ต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองและคนในครอบครัวให้แข็งแรงที่สุด เพราะทุกคนที่รับเชื้อไม่ได้แปลว่าจะต้องแสดงอาการของโรคทั้งหมด ผู้ที่รับเชื้อแล้วไม่แสดงอาการก็มีเป็นจำนวนมาก อาทิ การแพร่ระบาดที่เมืองแทกูของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีผู้อยู่ในโบสถ์และทำพิธีกรรมร่วมกับผู้ป่วยรายที่ 31 คุณป้า Super Spreader ถึง 1,900 คน ในจำนวนนี้มี 1,300 คนที่แสดงอาการป่วย แต่อีก 600 คนไม่ได้แสดงอาการ นั่นหมายความว่า เราต้องรักษา สุขภาพของเราให้แข็งแรงที่สุด เพื่อให้เราเป็นกลุ่มที่เมื่อรับเชื้อ แล้วไม่มีอาการป่วย เพราะนั่นเท่ากับร่างกายของเราจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองแล้ว ดังนั้นนาทีนี้เราต้องออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้เรามีร่างกายที่แข็งแรงที่สุด

2. ทำบัญชีครัวเรือนเพื่อรับรู้สถานะทางการเงินของเรา ใครที่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำบัญชีครัวเรือนนาทีนี้ต้องเริ่มสำรวจแล้วครับว่า ตัวเราเองในแต่ละเดือน หรือในแต่ละสัปดาห์ เรามีกระแสเงินไหลเข้า หรือรายรับจากแหล่งใดบ้าง เรามีกระแสเงินไหลออก (ซึ่งอาจจะมาจาก รายจ่าย และ/หรือ เงินที่เราเอาไปลงทุน) อยู่ที่ไหนบ้าง จาก 2 รายการนี้จะทำให้เรารับรู้ว่าในแต่ละเดือน หรือในแต่ละสัปดาห์ เรามีกระแสเงินสดสุทธิเท่าไร และอีกรายการที่เราต้องสำรวจด้วยก็คือ เรามีหนี้กี่ก้อน และภาระหนี้ของเราเป็นอย่างไรบ้าง

3. ต้องลดรายจ่าย อย่างที่กล่าวไว้แล้วในข้อที่ 2 กระแสเงินไหลออก มี 2 พวก คือ ไหลออกเป็นรายจ่าย และไหลออกไปเพื่อลงทุน นาทีนี้ถ้าเรายังมีกำลังในการลงทุนอยู่ ก็ลงทุนต่อไปเถอะครับ เพราะเครื่องมือทางการลงทุนต่างๆ เช่น ราคาหุ้น มันลดลงมากๆ แล้ว ซื้อตอนนี้ก็น่าจะมีโอกาสทำกำไรได้ในอนาคต ส่วนกระแสเงินไหลออกอีกประเภทคือ รายจ่าย เราคงต้องมา X-ray ดูแล้วว่า รายจ่ายรายการไหนยังจำเป็นต้องจ่ายอยู่ เป็นรายจ่ายประจำ อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ กับอีกส่วนที่เป็นรายจ่ายไม่คงที่ อาทิ ค่าอาหาร ค่า Entertainment ค่า Shopping ค่าโทรศัพท์มือถือ รายการเหล่านี้ถ้าเป็นไปได้ อาจต้องรัดเข็มขัดครับ ตัดลดรายจ่ายเหล่านี้ลง เพราะหากมีการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 นั่นหมายความว่า เราอาจจะต้องหยุดอยู่บ้านเป็นระยะเวลายาวนาน ธุรกิจที่เราทำงานด้วยอาจจะขอให้เราลาหยุดโดยไม่จ่ายค่าแรง (Leave without pay) และนั่นหมายความว่าเราต้องมีเงินสำรองที่มากพอ ดังนั้นวันนี้รายจ่ายไหนลดได้ต้องลดก่อน อีกเรื่องที่ต้องคำนึงด้วยคือ เรามีอีกกี่ปากท้องที่ต้องดูแล


 

4. เร่งเพิ่มรายรับ สำรวจด้วยครับว่ารายรับของเรา ทั้งที่เป็น Active Income คือเราต้องทำงาน เราต้องเหนื่อยเพื่อให้ได้เงินเข้ามา กับรายรับแบบ Passive Income คือรายรับที่เกิดจากการลงทุน รายรับเหล่านี้ทั้ง 2 แบบมีภาระที่เราต้องแบ่งหรือหักลดให้ใครหรือไม่ ส่วนที่เหลือคือรายได้ของเรา มาดูต่อว่ารายได้ของเราเป็นแบบที่จะได้รับประจำหรือเป็นแบบที่มันขึ้นๆ ลงๆ ปรับตัวไม่เท่ากันในแต่ละงวด รายได้ของเราจะได้รับสมํ่าเสมอหรือไม่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแหล่งรายได้ของเราจะได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 มากน้อยเพียงใด ท่านที่ได้เงินเดือนประจำจากบริษัทขนาดใหญ่ จากหน่วยงานราชการ เหล่านี้น่าจะมีความเสี่ยงที่รายได้จะลดลงค่อนข้างตํ่า แต่ถ้าท่านทำงาน Freelance หรือทำงานไม่ประจำ ได้รายได้เป็นครั้งๆ คราวๆ ขึ้นกับว่ามีงาน หรือไม่ทำงานหรือไม่ ถ้าแบบนี้ความเสี่ยงท่านจะสูงครับ

5. รายรับเหนือรายจ่ายและเงินสดสำรองสำคัญที่สุด ในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 เราต้องหยุดอยู่กับบ้านอย่างน้อย 14 วัน แน่นอนหากสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นต้องปิดเมือง (Lockdown/ Shutdown) นั่นหมายถึงคุณอาจจะต้องอยู่ในบ้านไม่ได้ไปทำงานยาวนานต่อเนื่อง กรณีแย่ที่สุดคือ 3 เดือน เช่นในกรณีของเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน แต่ของเรามาตรการและความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมคน รวมทั้งจิตสำนึกสาธารณะของคนทั่วๆ ไปที่อาจจะไม่ยอมกักตัว อาจทำให้เราต้องหยุดอยู่กับบ้านนานกว่า 3 เดือน ดังนั้นหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น รายรับเหนือรายจ่ายที่เก็บไว้ในรูปของเงินสดสำรองจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเงินสดสำรองหมายถึง เงินที่เพียงพอที่เราจะสามารถใช้จ่ายได้ (เท่ากับรายจ่ายที่เราไม่สามารถปรับลดได้แล้วจากข้อที่ 3) โดยไม่เดือดร้อน นาทีนี้ต้องเตรียมเงินสดสำรองในระดับ 3-6 เดือนหากไม่มีรายได้เข้ามาเลย 3-6 เดือน เราต้องอยู่รอดให้ได้

6. สำรวจทรัพย์สินว่ามี สภาพคล่องเพียงใด กรณีที่เรามีเงินสดสำรองไม่เพียงพอระดับ 3-6 เดือน เราคงต้องสำรวจดูเผื่อๆ ไว้ก่อนว่า ทรัพย์สินที่เรามีอยู่จะสามารถเปลี่ยนเป็นสภาพคล่องหรือเงินสดได้โดยวิธีใด ยาก/ง่ายแค่ไหน และจะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ด้วยช่องทางใดบ้าง โรงรับจำนำ ขายต่อในตลาดมือสอง ขายบนระบบออนไลน์ เหล่านี้ต้องคิดเผื่อๆ ไว้ ประเมินราคาที่น่าจะขายได้ ในกรณีฉุกเฉินจะได้ไม่ตกใจ เพราะเราเตรียมใจ เตรียมลู่ทางไว้แล้ว

7. คิดถึงเรื่องการทำประกัน จังหวะนี้มีกรมธรรม์ประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมกรณีติดเชื้อไวรัส COVID-19 ออกมาขายเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ เราอยู่ในกลุ่มที่สามารถซื้อประกันเหล่านี้ได้หรือไม่ ประกันที่เราจะซื้อมีการชดเชยรายได้ กรณีที่เราติดเชื้อและไม่สามารถไปทำงานได้ เพียงพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายของเราหรือไม่ (เห็นหรือยังว่าการทำบัญชีครัวเรือนสำคัญมาก) เงินที่เราจะได้จากประกันหากเราเจ็บป่วยเพียงพอที่จะดูแลครอบครัวของเราในช่วงที่เราเจ็บป่วยรักษาตัวหรือไม่ ที่สำคัญคือกรณีเสียชีวิตครอบครัวของเราจะได้รับเงินจากกรรมธรรม์เพียงพอสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่าน (กรณีเราเสียชีวิต ครอบครัวปกติจะใช้เวลาในราว 6 เดือน-2 ปี เพื่อปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบใหม่) เพียงพอหรือไม่ อีกเรื่องที่ต้องดูคือ ระยะเวลาคุ้มครองยาวนานเพียงใด จากรายงานของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ของกรมควบคุมโรค มีการสร้างฉากทัศน์หรือ Scenario การแพร่ระบาดไว้หลากหลาย ระยะเวลาของการแพร่ระบาดที่ยาวนานที่สุดที่คาดการณ์คือ 1 ปี 8 เดือน-2 ปี

8. บริหารจัดการหนี้ ถือโอกาสนี้สำรวจเลยครับว่าเรามีหนี้สินอยู่กี่ก้อน ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร เท่าไร และเราผ่อนชำระไหวหรือไม่ หลักการปลดหนี้ที่ดีคือ ทยอยปิดหนี้สินทีละรายการ โดยเน้นการปิดหนี้ที่มียอดหนี้ตํ่าก่อน ทำรายการสรุปหนี้สินทั้งหมดที่มี ชำระขั้นตํ่าในทุกรายการ ยกเว้นรายการที่มียอดตํ่าสุดให้ผ่อนชำระให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อหนี้สินยอดที่ตํ่าที่สุดยอดแรกถูกชำระจนครบ ก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกันซํ้าไปเรื่อยๆ หากคิดสารัตถะแล้วเราไม่สามารถผ่อนชำระได้ควรปรึกษากับเจ้าหนี้ และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเจรจาปรับลด ผ่อนผัน ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรืออาจต้องนึกถึงการ Re-finance หาแหล่งเงินทุนใหม่ที่มีดอกเบี้ยที่มีเงื่อนไขดีกว่า ระยะเวลาผ่อนชำระยาวนานกว่า มาล้างหนี้เก่าทั้งหมดจากหลายๆ แหล่งให้กลายเป็นแหล่งเดียว ตอนนี้หลายๆ สถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐออกมาเต็มไปหมดครับ

ทำสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง สำรวจสถานะทางการ เงินของตัวเองและครอบครัว เราจะรับมือและอยู่รอดปลอดภัยจากการแพร่ระบาด COVID-19 ระยะที่ 3 ไปด้วยกันครับ