‘โกลด์แมนฯ’ เตือนนักลงทุน วิกฤติสุดใน 8 สัปดาห์

17 มี.ค. 2563 | 00:49 น.

 

โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ เตือนนักลงทุนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 น่าจะเข้าสู่ช่วง “วิกฤติสุด” ในระยะ 8 สัปดาห์ข้างหน้านี้ หลังจากนั้นสถานการณ์จึงจะคลี่คลาย ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวเพียง 2% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ภาพรวมสำหรับปี 2563 จะมีอัตราเติบโตเป็นลบ ที่ระหว่าง -15% ถึง -20% แต่เชื่อว่าตลาดจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ภายในช่วงครึ่งหลังของปี

‘โกลด์แมนฯ’ เตือนนักลงทุน วิกฤติสุดใน 8 สัปดาห์

ในการบรรยายสรุปให้กับนักลงทุนซึ่งมี 1,500 บริษัทเข้าร่วมรับฟังผ่านการประชุมทางโทรศัพท์วานนี้ (16 มี.ค.) มีข้อสังเกตและประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” สรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้

 

  1. คาดว่าจะมีชาวอเมริกันติดเชื้อไวรัสนี้ (โควิด-19)  50% หรือคิดเป็นจำนวน 150 ล้านคน (สหรัฐฯมีประชากร 329.45 ล้านคน ณ ปี 2562) เนื่องจากมันเป็นโรคติดต่อได้ง่ายจากคนสู่คน พอๆกับโรคหวัดทั่วไปที่เกิดจากไวรัสมากกว่า 200 สายพันธุ์ และโดยปกติชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็จะได้รับเชื้อหวัดปีละ 2-4 ครั้งอยู่แล้ว ขณะที่สถานการณ์ในเยอรมนีดูจะรุนแรงกว่า เพราะคาดว่าอาจจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 70% หรือประมาณ 58 ล้านคน ถือเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบหนักรายต่อไปจากเชื้อไวรัสนี้
  1. ช่วงวิกฤติสุด หรือช่วงพีค (Peak) ของการแพร่ระบาดน่าจะอยู่ในช่วง 8 สัปดาห์ข้างหน้านี้ หลังจากนั้นสถานการณ์จะคลี่คลายลง

‘โกลด์แมนฯ’ เตือนนักลงทุน วิกฤติสุดใน 8 สัปดาห์

  1. เป็นไปได้ว่าความรุนแรงของการแพร่ระบาดอาจจะเป็นไปตามฤดูกาล ข้อสังเกตคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลุกลามหนักในประเทศที่อยู่แถบละติจูด 30 ถึง 50 องศาเหนือ ซึ่งหมายความว่ามันชอบสภาพอากาศหนาวเย็นเหมือนไวรัสไข้หวัดทั่วไปและไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น ฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงในประเทศแถบเหนือของเส้นศูนย์สูตรจึงน่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
  1. สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแล้วนั้น อาจแบ่งเป็น 3 ระยะ เชื่อว่า 80% ของผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ขณะที่ 15% อยู่ในระยะกลาง และ 5% ในระยะวิกฤติ อาการของระยะเริ่มต้นจะเหมือนกับผู้ที่เป็นหวัดทั่วไป ส่วนระยะกลางอาการจะคล้ายกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ นั่นหมายถึงกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ควรกักกันตัวเองและหยุดพักผ่อนอยู่กับบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ติดเชื้อระยะวิกฤติ 5% นั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงวัย

‘โกลด์แมนฯ’ เตือนนักลงทุน วิกฤติสุดใน 8 สัปดาห์

 

  1. อัตราการตายของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากคิดออกมาเป็นตัวเลขก็แปลว่าอาจมีผู้เสียชีวิตได้มากถึง 3 ล้านคน ปกติในสหรัฐอเมริกานั้น มีประชากรเสียชีวิตด้วยวัยชราและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ประมาณปีละ 3 ล้านคน โดยตัวแปรความชราและการเกิดโรคนั้นมีความสัมพันธ์กันมาก ด้วยความคาบเกี่ยวกันของตัวแปรต่าง ๆ จึงไม่ได้หมายความ จะมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 3 ล้านคนจากเชื้อไวรัสนี้ แต่หมายความว่า คนสูงวัยอาจจะเสียชีวิตเร็วขึ้นจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศได้เป็นอย่างมาก
  2. มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าจะจัดการกับปัญหาไวรัสแพร่ระบาดนี้อย่างไรในบริบทที่ยังไม่มีวัคซีนออกมาแก้ไวรัส ในสหรัฐฯนั้นดูเหมือนจะเน้นไปที่การกักตัว (quarantine) กันผู้ติดเชื้อออกจากคนหมู่มาก ขณะที่อังกฤษเน้นไปทางการปล่อยให้เชื้อไวรัสแพร่ไปมาก ๆจนถึงจุดหนึ่งที่ผู้คนจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้เองตามธรรมชาติ (natural immunity) ตอนนี้ดูเหมือนว่า วิธีการกักตัวจะไม่ประสบผลและกลับสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มาก แต่มันก็ช่วยชะลอการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งการชะลอดังกล่าวก็หมายความว่าระบบสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ จะมีเวลาในการรับมือมากขึ้น

‘โกลด์แมนฯ’ เตือนนักลงทุน วิกฤติสุดใน 8 สัปดาห์

  1. เศรษฐกิจของจีนได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งทำให้มีผลต่อไปยังระบบห่วงโซ่การผลิตและวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิต กว่าที่จะฟื้นตัวได้คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน
  2. ส่วนเศรษฐกิจโลกซึ่งวัดกันด้วยจีดีพีนั้น อาจจะขยายตัวในอัตราประมาณ 2% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 ปี
  1. ดัชนี S&P 500 โดยภาพรวมในปี 2563 นี้ จะมีอัตราเติบโตเป็นลบ หรือ negative growth ที่อัตรา -15% ถึง -20%

‘โกลด์แมนฯ’ เตือนนักลงทุน วิกฤติสุดใน 8 สัปดาห์

  1.  แน่นอนว่าจะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ แต่ความเสียหายที่แท้จริงนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากจิตวิทยาในตลาด (ความรู้สึกมั่นใจหรือความตื่นตระหนก) เชื้อไวรัสต่าง ๆนั้นอยู่คู่กับมนุษย์เรามาตลอดอยู่แล้ว โกลด์แมน แซคส์ เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์น่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 
  1. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลกระทบจาก 2 เหตุการณ์รวมกันคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย แม้ว่าราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงโดยทั่วไปแล้วจะเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกานั้น อีกบทบาทหนึ่งก็เป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันลดลงก็มีผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯด้วยเช่นกัน รวมทั้งมูลค่าหุ้นของบริษัทในกลุ่มพลังงาน ผลกระทบนี้จะลากยาวไปอีกระยะหนึ่งโดยในฝั่งรัสเซียนั้นจะมีความพยายามสร้างแรงกดดันให้กับผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันจากชั้นหินใต้ดินของสหรัฐฯ ขณะที่ซาอุฯเองก็พยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของตัวเองเอาไว้ ไม่ต้องการให้รัสเซียหรือสหรัฐฯมาช่วงชิงไป

‘โกลด์แมนฯ’ เตือนนักลงทุน วิกฤติสุดใน 8 สัปดาห์

  12. โดยทางเทคนิค ภาพรวมของตลาดเวลานี้กำลังมองหาจังหวะที่จะปรับสภาพตัวเองใหม่ (reset) หลังจากที่อยู่ในภาวะกระทิง (bull market) ดัชนีพุ่งขึ้นต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

  1. โกลด์แมนฯ สรุปว่า ขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงต่อระบบ (systemic risk) ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศกำลังเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อทำให้มีสเถียรภาพมากขึ้น และในส่วนของไพรเวต แบงกิ้ง (private banking sector) ซึ่งเป็นบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าคนสำคัญหรือบริการบริหารสินทรัพย์ ก็ถือว่ามีการดำรงเงินกองทุนเอาไว้อย่างแข็งแกร่งมาก ถ้าจะเปรียบเทียบสถานการณ์ในตลาดขณะนี้ก็น่าจะคล้ายๆในช่วงเหตุการณ์ 9/11 (ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในสหรัฐฯ) มากกว่าช่วงเหตุการณ์วิกฤติการเงินโลกในปี 2551