โคโรนาไร้ผล NER เผยออร์เดอร์ลูกค้าแน่นถึงไตรมาส 3

16 มี.ค. 2563 | 12:16 น.

NER แจงโควิด-19 ไม่กระทบธุรกิจ เพียงชะลอการส่งสินค้า ย้ำรายได้ไตรมาส 1 เป็นไปตามแผน ออร์เดอร์ยาวถึงไตรมาส 3 คาดออร์เดอร์เพิ่มหากสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น ด้านโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทฯพร้อมเข้าประมูล หากรัฐเริ่มโครงการ พร้อมขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NERเปิดเผยว่า บริษัทฯประเมินสถานการณ์หลังเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ช่วงที่ผ่านมาพบว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด มีเพียงการส่งสินค้าไปยังจีนที่มีความล่าช้าไปประมาณ 2 สัปดาห์ จากการที่โรงงานที่จีนหยุดทำงาน โดยหลังจากนี้บริษัทก็จะทยอยส่งสินค้าตามออเดอร์ไปยังลูกค้าตามปกติ 

โคโรนาไร้ผล  NER เผยออร์เดอร์ลูกค้าแน่นถึงไตรมาส 3

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 บริษัทคาดว่า จะเป็นไปตามแผนที่ตั้งเป้าไว้ โดยไม่มีลูกค้ายกเลิกค่ำสั่งซื้อ รวมทั้งออเดอร์ปัจจุบันของบริษัทมีต่อเนื่องไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งบริษัทก็จะทยอยส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่อง และบริษัทคาดว่าหากสถานการณ์โรคระบาดเริ่มดีขึ้น ลูกค้าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้าหลักที่จีน ที่มีสัดส่วน 75% ของการส่งออกทั้งหมดของบริษัทที่ 45% และลูกค้าในประเทศ 55% ยังคงมีความต้องการใช้ยางอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร

"บริษัทยังมั่นใจว่า เป้าหมายการเติบโตปี 2563  ยังคงไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 50% จากการปรับปรุงการขบวนการผลิตและการเปิดดำเนินการของโรงงานใหม่ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 176,000 ตัน จนมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 460,000 ตันต่อปี และเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2  ตลอดจนบริษัทยังเพิ่มผลิตภัณฑ์แผ่นปูรองนอนสัตว์สำหรับฟาร์มเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง โดยจะเริ่มดำเนินการผลิตและทดสอบสินค้าในเดือนเมษายน"

ส่วนความคืบหน้าในการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนจากชีวภาพ ปัจจุบันบริษัทรอความชัดเจนจากภาครัฐ หากรัฐเริ่มโครงการ บริษัทก็พร้อมจะเข้าประมูลได้ทันที เนื่องจากบริษัทมีการผลิตและใช้งานไฟฟ้าในระบบไบโอแก๊ซ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในการเข้าประมูลอยู่แล้ว โดยเบื้องต้นคาดหวังว่าจะมีส่วนเข้าไปร่วมในโครงการ 8 เมกะวัตต์ ในกลุ่มควิกวิน(Quick win) นอกจากนี้บริษัทยังมีความเป้าหมายที่จะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จำนวน 35-40 MW ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 พันล้าน และหากเป็นไปตามแผนจะส่งผลให้ยอดขายจากธุรกิจไฟฟ้าอยู่ที่ 10% ต่อยอดขายยางทุก 2,000 ล้านบาท โดยเป็นมาร์จิ้นของธุรกิจไฟฟ้าประมาณ  20%