WHO ชม นายกสิงคโปร์ สื่อสารช่วงวิกฤติได้ดี

15 มี.ค. 2563 | 01:17 น.

WHO ยกย่อง "ลี เซียนลุง" เป็นผู้นำที่สื่อสารมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน มากที่สุดในช่วงวิกฤติโรคระบาด


องค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยกย่อง นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ให้เป็นต้นแบบในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน บรรเทาความตื่นตระหนก ขจัดข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า แถลงการณ์ความยาว 9 นาที ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติสิงคโปร์เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ของนายลี ช่วยขจัดความวิตกกังวลของประชาชนได้อย่างเห็นผลทันที

"ความหวาดกลัวจะสร้างความเสียหายยิ่งกว่าเชื้อไวรัส" นายลี แถลงทางโทรทัศน์ เป็น ภาษาอังกฤษ จีน และ มาเลย์ หลังจากมีข่าวว่าชาวบ้านพากันแห่เข้าคิวตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เพื่อกักตุนอาหารและของใช้ที่จำเป็นตั้งแต่ 7 ก.พ.

จากนั้น ผู้นำสิงคโปร์ได้ให้แนวทางแก่ประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น การรักษาสุขอนามัย ขณะเดียวกันได้ให้ความมั่นใจว่าสิงคโปร์มีสินค้าที่จำเป็นต่าง ๆ เพียงพอ

นอกจากนี้ นายลียังสร้างความอุ่นใจให้แก่ชาวสิงคโปร์ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้มีความรุนแรงเท่ากับโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส ที่เคยระบาดเมื่อปี 2003 ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง

ขณะเดียวกัน นายลี ยังระบุว่า รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือหากโรคได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล พร้อมยืนยันจะคอย "แจ้งข้อมูลให้ทราบทุกขั้นตอน"

แถลงการณ์ดังกล่าวของผู้นำสิงคโปร์ได้ถูกนำไปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเชื้อชาติของประเทศ

บลูมเบิร์กรายงานว่า สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังมีแถลงการณ์ของนายลีเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งแสดงให้เห็นการทำงานที่มีประสิทธิผลของทางการสิงคโปร์ ในภาวะที่รัฐบาลประเทศอื่นในภูมิภาคต่างประสบปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ประสิทธิภาพกับประชาชนจนทำให้เกิดกระแสความตื่นตระหนกและความสับสนในการป้องกันตนเองจากโรคระบาดครั้งนี้

น.ส.โอลิเวีย ลอว์-เดวีส์ โฆษกองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ความโดดเด่นในการสื่อสารในยามวิกฤตของสิงคโปร์สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการสื่อสารกับประชาชนเป็นวงกว้าง

"ก่อนจะมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรก สิงคโปร์ได้เตรียมการรับมือเพื่อให้มีการตรวจจับและรับมือกับโรคอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและสื่อสารกับประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข" โฆษกองค์การอนามัยโลกกล่าว

สิงคโปร์ ซึ่งมีประชากร 5.7 ล้านคน ตรวจพบผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 45 ราย ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 นอกประเทศจีน รองจากญี่ปุ่น
ดร.แคลร์ ฮุกเกอร์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งตามศึกษาเรื่องการรับมือต่อโรคระบาดและโรคติดเชื้อของทางการประเทศต่าง ๆ มาราว 20 ปี ชี้ว่า "ถ้อยแถลงของนายลีเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในการสื่อสารท่ามกลางความเสี่ยง...มันให้แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชน โดยเป็นการให้มาตรการควบคุมแก่ประชาชนที่รู้สึกว่ากำลังเสี่ยงจะสูญเสียการควบคุม" ในวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายโธมัส อับราฮัม เจ้าของหนังสือ Twenty First Century Plague, the Story of SARS และที่ปรึกษาการสื่อสารความเสี่ยงขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ถ้อยแถลงของผู้นำสิงคโปร์ได้ผลเพราะชาวสิงคโปร์มีความเชื่อมั่นในความสามารถและความโปร่งใสของรัฐบาลอย่างสูง

"นายกรัฐมนตรีลีไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงใด ๆ หรือลังเลที่จะพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายลง" นายอับราฮัม กล่าว