เร่งฟื้นความเชื่อมั่น แก้ปัญหาไวรัสโคโรนา

14 มี.ค. 2563 | 11:33 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3557 หน้า 8 ระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค.63

 

 

          เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 76/2563 จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” เพื่อเป็นการยกระดับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยให้อยู่ในวงจํากัด ลดผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ สร้างความตระหนักรู้เท่าทันและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ตลอดจนประเมินสถานการณ์เพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้ตรงกับความรุนแรงของปัญหา และวางมาตรการป้องกัน ควบคุม และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม

          นอกจากนั้นยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการอีก 23 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นรัฐมนตรี ข้าราชการ และข้าราชการการเมือง มีอำนาจโดยสรุป คือ กําหนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์ตามกฎหมายต่างครอบคลุม 6 ด้าน คือ 1.ด้านการสาธารณสุข 2.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 3.ด้านข้อมูล ด้านการชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน 4.ด้านการต่างประเทศ 5.ด้านมาตรการป้องกัน และ 6.ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา

          คณะกรรมการชุดนี้ยังมีอำนาจถึงสั่งการ กํากับดูแล ควบคุมและติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดําเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงบริหารจัดการข้อมูลที่ได้รับรายงานเพื่อการประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน และแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนเพื่อสร้างความรู้เท่าทันและความเข้าใจ ที่ตรงกันในสถานการณ์

          เราเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทยขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะขยายวงกว้างเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศ ทําให้มีจํานวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อสภาวะเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างมาก ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดลุกลามไปสู่ระยะที่ 3 การทำงานของ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเชิงรุกที่รวดเร็ว ฉับไว มีการสื่อสารและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเอกภาพ ไม่ก่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุน กลับมาโดยเร็ว