ซัพพลายเออร์ผวา อำนาจซื้อ‘ซีพี’

16 มี.ค. 2563 | 01:40 น.

“ซัพพลายเออร์” 3 หมื่นรายผวา หลังเครือซีพีฮุบค้าปลีกเมืองไทย หวั่นอำนาจต่อรองสูง ถูกบีบหนัก ขณะที่นักวิชาการแนะปรับแผนรับมือ หันทำตลาดออนไลน์แทน

 

การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ ประเทศไทยและมาเลเซียของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีด้วยเม็ดเงินกว่า 3.38 แสนล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มซีพี กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งเมืองไทย ในฐานะผู้กุมอำนาจการบริหารทั้งร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ร้านค้าส่ง “แม็คโคร” และไฮเปอร์มาร์เก็ต “เทสโก้ โลตัส” ผลที่หลายฝ่ายวิตกคือการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ หรือซัพพลายเออร์ 2-3 หมื่นรายที่ผลิตและส่งสินค้าให้

อำนาจต่อรองพุ่ง

ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การที่เครือซีพีเป็นเจ้าของร้านค้าในกลุ่ม Modern Grocery Retailing ทั้งร้านเซเว่นอีเลฟเว่น, แม็คโคร และเทสโก้ โลตัส ส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% จะถือว่าเป็นการผูกขาดตลาดอย่างปฏิเสธไม่ได้ และการมีส่วนแบ่งตลาดในปริมาณที่สูงย่อมต้องมีการสั่งซื้อสินค้ามากกว่า 25% ของคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่ง ทำให้มีอำนาจในการต่อรองทั้งด้านการผลิต ราคา การจัดส่ง ฯลฯ ได้

“วันนี้การนำสินค้าวางจำหน่ายในร้านค้าต่างๆ อาจไม่มีค่าแรกเข้าเหมือนในอดีต แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะค่าแรกเข้าหรือค่าแปะเจี๊ยะ อาจจะเปลี่ยนไปเรียกเก็บเป็นค่าดิสเพลย์ ค่าตั้งโชว์ ค่าขนส่ง ฯลฯ แทน ซึ่งแต่ละสินค้า แต่ละแบรนด์จะถูกเก็บในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน หากเป็นแบรนด์ที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ลูกค้านิยมซื้อและเรียกลูกค้าได้ ก็จะถูกเรียกเก็บต่ำหรืออาจไม่เสีย แต่ถ้าเป็นแบรนด์รอง อาจจะมีค่าใช้จ่ายในรูปแบบที่กล่าวในข้างต้น”

อย่างไรก็ดี อำนาจต่อรองอาจไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่อาจมีเรื่องของปริมาณการสั่งซื้อที่ลดลงและนำสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองหรือเฮาส์แบรนด์ มาวางจำหน่ายแทน รวมถึงการกำหนดให้ซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่งจำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในรูปแบบ Only@ ก็เป็นได้

“สินค้านับหมื่นรายการที่วางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สัดส่วนที่เป็นของผู้ผลิตนอกมีไม่มาก แม้จะเป็นแบรนด์ต่างๆ ไม่ใช้ชื่อซีพี แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นสินค้าที่ผลิตให้กับซีพีหรือเซเว่นฯ เพื่อนำมาวางจำหน่ายภายในร้าน โดยไม่เสียค่าแรกเข้าหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงสามารถกำหนดราคาให้ถูกกว่าแบรนด์ทั่วไปได้ แตกต่างกับแบรนด์ทั่วไปที่นอกจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งของบริษัทแล้วยังต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ มากมายเป็นค่าการตลาด กำไรที่ได้จึงน้อยมาก”

เสริมแกร่งค้าปลีกไทย

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เครือซีพีเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในประเทศไทยและมาเลเซีย ทำให้ได้สิทธิการบริหารเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยซึ่งมีสาขาในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา , เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา และศูนย์การค้า (ให้เช่าพื้นที่) อีก 191 สาขา และได้สิทธิบริหารเทสโก้ มาเลเซีย ซึ่งมีไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา ร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และศูนย์การค้า (ให้เช่าพื้นที่) อีก 56 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562)

โดยเครือซีพี เชื่อว่าการเข้าลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งเทสโก้ โลตัสทั้งในไทยและมาเลเซีย มีร้านค้าในรูปแบบต่างๆสามารถเสริมให้ธุรกิจของซีพีมีร้านค้าที่หลากหลาย และน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต

ซัพพลายเออร์ผวา  อำนาจซื้อ‘ซีพี’

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหนึ่งที่ถูกพูดถึงและถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขในการซื้อขายครั้งนี้คือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อป้องการกันการผูกขาดหรือการมีอำนาจเหนือตลาดหน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2563

แนะปรับแผนรับมือ

“มีหลายวิธีในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ เช่น ขายเฉพาะในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเท่านั้น, ลดปริมาณสินค้า และนำสินค้าเฮาส์แบรนด์มาขายแทน”

ผศ.ดร.บุปผา กล่าวอีกว่า เบื้องต้นประเมินว่า ซัพพลายเออร์ที่จัดส่งสินค้าให้กับร้านค้าในเครือซีพีจะได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดและแบรนด์รองๆ ลงมา เพราะการถือครองสัดส่วนร้านค้าในปริมาณมาก เมื่อรวมคำสั่งซื้อย่อมมีปริมาณมากอำนาจต่อรองย่อมสูงตามไปด้วย สามารถกำหนดราคาการซื้อได้ ขณะที่ซัพพลายเออร์ต้องแบกรับเรื่องของต้นทุนต่างๆ อย่างไรก็ดี ซัพพลายเออร์เมื่อถูกบีบหนักเข้า จำเป็นต้องปรับแผนรองรับ ทั้งการหันไปทำตลาดในรูปแบบอื่น เช่น การขายผ่านทางออนไลน์หรือ e-retailing ซึ่งทุกวันนี้ก็แข่งขันรุนแรงเช่นกัน

ซัพพลายเออร์ผวา  อำนาจซื้อ‘ซีพี’

เปิดศึกชิงพื้นที่เชลฟ์

ผู้ผลิตอาหารรายหนึ่ง กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ทุกวันนี้สัดส่วนการผลิตและวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่นมีจำกัด ด้วยเงื่อนไขของพื้นที่ การกำหนดประเภทหรือชนิดของสินค้า และการจัดโปรโมชัน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเพราะมีสินค้าจำนวนมากที่ต้องการเข้าไปวางจำหน่ายบนเชลฟ์ของร้านสะดวกซื้อ ทำให้เกิดการชิงพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ร้านเป็นผู้ผลิตเองหรือผูกขาดการขาย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ผลิตที่ต้องการนำสินค้าไปวางขาย ก็ต้องยอม เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง