โคโรนาหนุน อี-เพย์เมนต์ โตพุ่ง!

16 มี.ค. 2563 | 02:17 น.

ชิมช้อปใช้”หนุนอี-เพย์เมนต์โตพุ่ง 5 ปี ยอดใช้จ่ายกระโดด 1.85 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 283% เฉพาะแบงก์โตพรวด 908% ชี้วิกฤติ “โคโรนา” พลิกโอกาส คนหันใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์ ดันธุรกรรม “แกร็บ-ไลน์-แอร์เพย์” ท็อป 3 ชิงแชร์ชำระเงินออนไลน์

 

การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 กำลังสร้างความกังวลให้กับผู้คนทั่วโลก จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้นจากเดิม 4,000 ราย/วัน มาอยู่ที่ 7,000 ราย/วัน ทำให้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาประกาศยกระดับโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ ส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดนํ้ามัน แม้แต่ราคาทองคำต่างก็ลดลงเช่นกัน แต่ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับการค้าขายออนไลน์

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานข้อมูลธุรกรรมการให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ของผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน (Bank) และที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ต้องรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตามพระราชบัญญัติ (...) ระบบการชำระเงิน .. 2560 ซึ่งเป็นข้อมูล e-Money ที่มีลักษณะเป็นการใช้เพื่อทดแทนเงินสด ที่สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ทั่วไป ไม่รวม e-Money ที่ใช้สำหรับเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่

ทั้งนี้ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มจาก 6,558.05 ล้านบาทเป็น 25,088.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 18,529.99 ล้านบาท หรือขยายตัวกว่า 282.55% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมาจากผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอน-แบงก์) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ 70 ล้านบัญชี มีมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมด 19,697.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,673.85 ล้านบาทจากสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 6,023.25 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 227.01% ส่วนผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน 19 ล้านบัญชี มีมูลค่าการใช้จ่าย 5,390.94 ล้านบาทจากสิ้นปี 2558 ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายเพียง 534.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 4,856.14 ล้านบาท หรือกว่า 908.02%  

โคโรนาหนุน  อี-เพย์เมนต์  โตพุ่ง!     

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การใช้บริการชำระเงินอิเล็กทรอ นิกส์ (e-money) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 จะเห็นการเติบโตของการชำระเงินอี-เพย์เมนต์เติบโตขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในไม่กี่สัปดาห์ จึงเป็นโอกาสทำให้คนส่วนใหญ่หันมารู้จักดิจิทัลเพย์เมนต์ ซึ่งระยะต่อไปก็จะเห็นการซื้อสินค้า หรือบริการผ่านออนไลน์ และชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม e-money เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับคนไม่มีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต แม้ว่าอาจจะมีส่วนหนึ่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น shopee

อย่างไรก็ตาม การชำระเงิน อี-เพย์เมนต์ ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50% ต่อปี แต่ระยะหลังจะเห็น 2 รายใหญ่เข้ามาชิงตลาด คือ Ggrab และ Line รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารออนไลน์ที่เป็นตัวหลัก ที่เหลือจะเป็นการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงิน (e -wallet) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายค่ามือถือ หรืออินเตอร์เน็ต หรือซื้อสินค้าในเซเว่น อีเลฟเว่น (7-eleven) แต่ 2 ปีหลังในส่วนนี้จะมีทรูมันนี่ครองส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมาก

ผู้ให้บริการอี-เพย์เมนต์รายใหญ่ในตลาด 3 ราย จะเป็น Grab, Line และแอร์เพย์ แต่แอร์เพย์นั้น จะเป็นเจ้าถิ่นด้านตลาดเกมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวเลขการเติบโตของ e-money ในความเป็นจริงนั้น ยังเป็น 2 ทอด คือแบงก์ให้บริการเติมเงินจากบัตรเครดิต ลงกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีกทอดเป็นการตัดเงินผ่านบัตรเครดิต เช่นที่ผ่านมา มีการเติมเงินผ่าน Grab เติบโตขึ้นเป็นพันเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ช่องทางชิมช้อปใช้ ยังถือเป็น volume ใหญ่ ของ e-money ด้วย

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม และกันยายนปี 2562 ที่มูลค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่า เป็นผลจากทางการที่มีนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยเป็นกลไกในการรับชำระเงินโครงการชิมช้อปใช้ทำให้การเติมเงินและยอดใช้จ่ายกระโดดเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปกติในส่วนของบริการธนาคารจะอยู่ใน 4-5 พันล้านบาท และภาพรวมแนวโน้มการใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเติบโตของอี-เพย์เมนต์เป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่ผลักดันพร้อมเพย์เป็นตัวนำร่องตามมาด้วย ไทยคิวอาร์โค้ด ซึ่งเงินกลุ่มนี้อยู่ในธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แต่นอน-แบงก์จะเข้าไปเชื่อมต่อธนาคารเมื่อมีการเติมเงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือดึงเงินจากธนาคาร เพื่อรองรับการหักเงินผ่านบัญชีหรือบัตรเครดิต ถือเป็นการเกื้อกูลกันในระบบการชำระเงินออนไลน์ ทีี่สำคัญในอนาคตที่จะโตมากขึ้น จะมาจากการที่ธนาคารจับมืือกับพันธมิตร เช่น มหาวิทยาลัยร้านค้าออนไลน์ ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่มาก 

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15-18 มีนาคม 2563