พาณิชย์รุกตลาดสินค้าGIในจีน

13 มี.ค. 2563 | 08:54 น.

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมจัดทำ VTR โปรโมตสินค้า GI ไทย 4 รายการ ทุเรียนปราจีน-มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี-ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน-ทุเรียนป่าละอู   3 ภาษา เล็งรุกตลาดจีนเพิ่มหลัง ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลไม้ของไทยที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยกำลังได้รับความนิยมมากจากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศที่นิยมบริโภคผลไม้ไทย ดังนั้นกรมฯ มีแผนที่จะประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้ลึกและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยมีแผนที่จะจัดทำ VTR สินค้า GI ไทยที่มีศักยภาพในการทำตลาดในรูปแบบ 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยจะนำร่องก่อนจำนวน 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนปราจีน มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และทุเรียนป่าละอู เพราะเป็นสินค้าที่เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

พาณิชย์รุกตลาดสินค้าGIในจีน

          “ตอนนี้ผลไม้ของไทยที่มีตราสัญลักษณ์จีไอกำลังเป็นที่นิยมทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน และมีแนวโน้มที่จะส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นกรมฯจะเร่งโปรโมตให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการทำตลาด และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตและเกษตรกรของไทย ทำให้มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น

พาณิชย์รุกตลาดสินค้าGIในจีน

          สำหรับแผนการดำเนินงานกรมฯจะเดินหน้าประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคถึงจุดเด่น ที่มาที่ไปของสินค้า GI และทำไมถึงแตกต่างจากสินค้าทั่วไป

   สำหรับปีนี้กรมจะเน้นสินค้า10 ชนิด ประกอบด้วย 1.ผ้าไหมปักธงชัย 2.มังคุดคีรีวง 3.ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง 4.ทุเรียนในวงระนอง 5.ศิลาดลเชียงใหม่ 6.ส้มโอนครชัยศรี 7.ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี 8.ลิ้นจี่บางขุนเทียน และส้มบางมด 9.ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง และ 10.มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกระเจ้า

พาณิชย์รุกตลาดสินค้าGIในจีน

          นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าและจัดประชุมทำความรู้ความเข้าใจแนวทางพัฒนาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้แก่ชุมชน การเข้าไปช่วยพัฒนา ให้สามารถผลักดันสินค้า GI ไทยให้เกิดการจำหน่ายในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับสินค้า GI ในเวทีนานาชาติด้วย

พาณิชย์รุกตลาดสินค้าGIในจีน