ยานยนต์ตัวการปล่อย PM2.5 ชงEV-บี้โละรถเก่า

16 มี.ค. 2563 | 22:35 น.

กรมควบคุมมลพิษเผย 75% ของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากยานยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน ด้านสศอ.จากกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแผนรัฐบาล ผลักดันให้เกิดการผลิต-การใช้อีวี ทั้งรถยนต์นั่ง รถบัส และรถจักรยานยนต์ สร้างความแข็งแกร่งให้อุตฯยานยนต์ พร้อมออกมาตรการภาษีกับรถเก่าที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป หวังลดมลพิษ

 

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับมันสมองของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการนำเสนอนโยบาย วางแนวทางมาตรการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม พร้อมทั้งประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จากผู้ประกอบการ 1.4 หมื่นราย พร้อมการจ้างงานกว่า 3.4 แสนคน มูลค่าการส่งออกเกิน 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีมูลค่า 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่วันนี้กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เป็นความท้าทายครั้งใหญ่

โจทย์ใหญ่ของอุตสาห กรรมยานยนต์ไทยคือ ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องรักษาการเป็นฐานผลิตสำคัญระดับ 11 ของโลกเอาไว้ ซึ่งรัฐบาลให้นโยบายที่ชัดเจนว่าต้องมุ่งไปยังยานยนต์สมัยใหม่ ทั้ง อีวี ปลั๊ก-อินไฮบริด และไฮบริด โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่สนใจ ขณะเดียวกันรถพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวสามารถลดมลพิษหรือปล่อยไอเสียน้อยกว่ารถเครื่อง ยนต์สันดาปภายใน (ICE) และถือเป็นมาตรการลดฝุ่น PM 2.5 โดยตรง

ยานยนต์ตัวการปล่อย PM2.5 ชงEV-บี้โละรถเก่า

นอกจากการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว สศอ.และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยังนำเสนอแผนจำกัดอายุรถเก่าที่ตามสถิติมีรถอายุเกิน 10 ปี ในเมืองไทยเกือบ 18 ล้านคัน ขณะเดียวกันข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า 75% ของการปล่อย PM 2.5 มาจากยานยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน ส่วนที่เหลือเป็นของภาคอุตสาหกรรม 17% การเผาในที่โล่ง 5% และอื่นๆ

ข้อเสนอที่ว่าคือการให้ลดจำนวนรถเก่าผ่าน 5 มาตร การคือ 1. การจัดเก็บภาษีต่ออายุสำหรับรถที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 7 ปี ขึ้นไป 2.การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตตามปริมาณการปล่อยมลพิษโดยการวัดค่า CO2 3.ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้บริโภคในการใช้งานรถยนต์สมัยใหม่ และ 4. การส่งเสริมกิจการ Recycle และการบริหารจัดการซากรถยนต์เก่า 5.การปรับปรุงกฎหมายมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการ Recycle

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ในการซื้อรถเก่า 10 ปี สูงสุด 1 แสนบาท เพื่อนำไปแลกรถไฟฟ้าอีวีคันใหม่ โดยมีเงื่อนไขประกอบไปด้วย รถยนต์ที่อยู่ในแค็ตตาล็อก และผู้ขายจะต้องรับผิดชอบการกำจัดซากรถ ซึ่งเบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาทจากกรมสรรพ สามิต ส่วนผลได้อื่นๆ นั้นจะมีทั้งการกำจัดรถเก่าที่เสื่อมสภาพออกไป ช่วยลดการปล่อยมลพิษ และเพื่อเป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีข้อเสนอดังกล่าวได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1-1/2563 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม และผลเบื้องต้นที่ออกมาคือมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากต้องพิจารณาจากหลายกระทรวงรวมไปถึงค่ายผู้ผลิต

ด้านนายธนวัฒน์ คุ้มสิน รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรถเก่าแลกรถใหม่นั้น ถือว่ายังไม่ตกผลึก โดยการลดสูงสุด 1 แสนบาท ตรงนี้อาจจะยังไม่จูงใจผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพราะราคาของรถเหล่านี้ยังสูงอยู่ นอกจากนั้นแล้วอาจจะต้องลดภาษี การมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้ที่ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า

“คาดว่าหลังจากนี้จะต้องประชุมย่อยร่วมกันมากขึ้น โดยอาจจะเป็นลักษณะกองทัพมด เพื่อพูดคุยหาข้อสรุปความชัดเจนด้านต่างๆ และทุกภาคส่วนจะได้ทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นอีก 2-3 เดือนน่าจะจัดประชุมใหญ่เพื่อนำเสนอแนวทางความคืบหน้ากับรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ในปีที่แล้วกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เคยเสนอให้กรมสรรพสามิต จัดตั้งกองทุนจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับรถยนต์เก่าที่ยังใช้งานอยู่ ภายใต้เงื่อนไขว่า หากผู้ใช้รถซื้อรถยนต์ใหม่โดยนำคันเก่าเข้าสู่กระบวนการกำจัดซากที่ได้มาตรฐาน จะได้รับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนคืนพร้อมดอกเบี้ย หรือได้เครดิตจากกรมสรรพ สามิต ซึ่งอาจจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตในการซื้อรถคันใหม่ ทว่าข้อเสนอนี้กรมสรรพสามิต ตีตกไปเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของสศอ.จะเป็นการบูรณาการของหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงานพร้อมขับเคลื่อนในภาพที่ใหญ่กว่า 

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2563