หนุนเกษตรกรผลิต “หน้ากากผ้าไหม” สู้ไวรัสโคโรนา

11 มี.ค. 2563 | 11:20 น.

“อลงกรณ์” พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสู้ภัยฝุ่น PM 2.5 -ไวรัสโคโรนา หนุนเกษตรกรผลิต “หน้ากากผ้าไหม” ชี้คุณสมบัติพิเศษเพียบ ทั้งระบายความร้อนได้ดี กรองฝุ่น ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

หนุนเกษตรกรผลิต “หน้ากากผ้าไหม” สู้ไวรัสโคโรนา

วันที่ 11 มีนาคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และโควิด-19 การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ โดยข้อมูลล่าสุด (10 มี.ค.63) ประเทศไทยมีผู้ป่วยแล้ว 53 ราย จากการที่ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนต่างหาทางรับมือในการป้องกันและแพร่ระบาด โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักและให้ความสำคัญ

หนุนเกษตรกรผลิต “หน้ากากผ้าไหม” สู้ไวรัสโคโรนา

รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงให้กรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถในพื้นที่ทั้ง 21 ศูนย์ ได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้าไหมขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้จังหวัดต่างๆ และประชาชนได้ทำหน้ากากอนามัยใช้เอง

หนุนเกษตรกรผลิต “หน้ากากผ้าไหม” สู้ไวรัสโคโรนา

“หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้าไหมที่ได้ส่งเสริมให้ผลิตขึ้นนั้น มีจุดเด่นหลายประการโดยเฉพาะเมื่อใช้แล้วสามารถซักและนำมาใช้ได้อีก อีกทั้งสามารถกรองฝุ่นและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ และเมื่ออากาศเย็น ผ้าไหมก็จะช่วยให้ความอบอุ่นอีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อยืนยันถึงคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรคของหน้ากากอนามัยผ้าไหมนี้” นายอลงกรณ์ กล่าว


 

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้าไหมจะดำเนินการในทุกจังหวัด เช่น จ.สุรินทร์ ซึ่งมีการทอผ้าไหมประมาณ 1,400 หมู่บ้าน จากจำนวนทั้งหมด 2,128 หมู่บ้าน จึงมีนโยบายรณรงค์ให้ชาวสุรินทร์ทำหน้ากากอนามัยจากผ้าไหม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าไหมสุรินทร์ เพิ่มรายได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหม และเตรียมการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาพซบเซาทั้งโลก ในส่วนของ จ.สระบุรี ได้ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ ต.ตลาดน้อย อ.บ้านหม้อ ทำการผลิตหน้ากากอนามัยจากผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติที่ผ่านการรับรองเป็นผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ไม่ตกสี

 

หนุนเกษตรกรผลิต “หน้ากากผ้าไหม” สู้ไวรัสโคโรนา

นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ขณะนี้หน้ากากผ้าไหม จ.สุรินทร์ที่ผลิตมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบที่ 1 มี 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ด้านนอกเป็นผ้าไหม ชั้นที่ 2 ผ้ากรองเชื้อ ชั้นที่ 3 ด้านในเป็นผ้าสาลู แบบที่ 2 มี 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ด้านนอกเป็นผ้าไหม ชั้นที่ 2 ด้านในเป็นผ้าสาลู มีเปิดช่องตรงกลางระหว่างผ้าชั้นนอกกับชั้นใน ให้สามารถสอดแผ่นกรองได้ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งได้เสด็จมาที่เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน เรือนจำกลางสุรินทร์ จ.สุรินทร์  เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่วน จ.สระบุรี มี 2 แบบคือ แบบที่ 1 ผ้าฝ้ายลายไทย และ แบบที่ 2 มี 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ด้านนอกเป็นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ชั้นที่ 2 ด้านในเป็นผ้าสาลู

หนุนเกษตรกรผลิต “หน้ากากผ้าไหม” สู้ไวรัสโคโรนา

“ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำหน้ากากอนามัยจากผ้าไหมไปแสดงในงานเปิดตัวโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมแจกให้ผู้มาร่วมงาน จำนวน 200 ชิ้น ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี และเพื่อช่วยเหลือประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีแผนจะแจกจ่ายอีกจำนวน 300 ชิ้น ในงาน Field Day เริ่มต้นฤดูกาลผลิต และงานคลินิกเกษตรกร ที่จะจัดขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้” รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว