‘เจ้าสัวเจริญ’ ทุบทุกสถิติ เสกตึกสูง 100ชั้น ริมเจ้าพระยา

12 มี.ค. 2563 | 00:45 น.


เจ้าสัวเจริญ เขย่าทำเลโค้งนํ้าเจ้าพระยา นำที่ดินที่ตั้งชิงช้า ชมเมืองข้างเอเชียทีค ฝั่งพระนคร ผุดตึกสูงโรงแรม 100 ชั้น 450 เมตร ค่า 3 หมื่นล้านแซงไอคอนสยาม-วันแบงค็อก ทุบทุกสถิติ หากกลุ่มเซ็นทรัลไม่ลุยต่อซุปเปอร์ทาวเวอร์พระราม 9

ศึกชิงความได้เปรียบระดับสุดยอดเจ้าสัวเมืองไทย นอกจากจะสะสมแลนด์แบงก์ เฟ้นทำเลพรีเมียม หรือไม่ก็สร้างประวัติศาสตร์ซื้อที่ดินแพงที่สุดไว้ในมือแล้ว แต่ละค่ายยังมีกลเม็ดปั้นอาณาจักรพัฒนาโครงการ ร่ายมนต์สะกดให้ทุกพื้นที่กลายเป็นที่สุดจุดหมายปลายทางของคนไทยและชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมูลค่าโปรเจ็กต์ที่สูง พื้นที่ใช้สอยอันกว้างใหญ่ไพศาล ความอลังการที่ไม่เคยปรากฏพบเห็นที่ไหนมาก่อน ความสูงของตึกก็เช่นกัน เนื่องจากแต่ละปี จะเห็นความยิ่งใหญ่ผ่านความเป็นเจ้าเวหา นับตั้งแต่ในอดีต สายตาทุกคู่จะสะกดอยู่ที่ตึกใบหยก 2 ตึก สูงเสียดฟ้า 88 ชั้น มองเห็นวิวเมืองแบบพาโนรามาของ นายพันธ์เลิศ ใบหยก ตั้งเด่นตระหง่าน ใจกลางประตู นํ้า เรียกเสียฮือฮาไม่น้อย สร้างความตื่นตาตื่นใจอยากปีนป่ายขึ้นไปสัมผัส สำหรับคนมีเงินในยุคก่อน และแล้วตึกใบหยกก็ถูกทำลายสถิติลงเมื่อปี 2552

ทันทีที่ที่ดินย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพ มหานคร บริเวณสถานีบีทีเอสช่องนนทรี สายสีลม-สาทร สร้างความตื่นตะลึงให้ชาวไทยและชาวโลกอีกครั้ง เมื่อบริษัท เพซ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวตึกสูงทะลุฟ้ามหานครสถาปัตยกรรมสุดลํ้า ออกแบบตัวอาคารเสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้น 3 มิติ หรือพิกเซลกระจกทั้งหลัง สร้างสรรค์โดยบริษัทสถาปนิกในกลุ่มบริษัท บูโร โอเล เชียเรน กรุ๊ปฯ ด้วยความสูง 314.2 เมตร จำนวน 78 ชั้น พื้นที่ใช้สอยผสมผสานไปด้วยโรงแรม ร้านค้าปลีก

‘เจ้าสัวเจริญ’  ทุบทุกสถิติ  เสกตึกสูง 100ชั้น  ริมเจ้าพระยา

ในเวลาต่อมา ตึกสูงแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนมือ และเปลี่ยนชื่อ เป็นคิงเพาเวอร์ มหานครของกลุ่มคิงเพาเวอร์ ในปี 2559 พร้อมปรับโฉมให้กับคนไม่สะท้านความสูง สร้างจุดชมวิวใกล้ชิดชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ได้อย่างมาก

คิงเพาเวอร์ มหานครเป็นตึกค้างฟ้าได้ไม่นาน ในที่สุดได้ถูกทุบสถิติความสูง เมื่อไอคอนสยามของ เจ้าสัวซีพีธนินท์ เจียรวนนท์ร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ นางชฎาทิพย์ จูตระกูล เปิดตัวมหานครแห่งสายนํ้าเจ้าพระยา ช่วงปลายปี 2561 ปลุกฝั่งธนบุรีย่านเจริญนครให้ตื่นจากหลับ จุดพลุกลายเป็นจุดหมายปลายทางเมืองช็อปปิ้งโลก เปลี่ยนพื้นที่อันเงียบสงบเป็นแหล่งชุมนุมนักท่องเที่ยวนานาชาติหลากรสนิยม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างมาก ทั้ง การเชื่อมโยงรถไฟฟ้า การเกิดและเติบโตของคอนโดมิเนียมลักชัวรีริมคุ้งนํ้า และความเหลือเชื่อเหนือลํ้า ได้เกิดปรากฏการณ์ตึกสูงสะท้านฟ้า เมื่อได้เปิดตัวแมกโนเลียส์วอเตอร์ฟรอนท์คอนโดมิเนียม สุดหรู สูง 317.95 . 70 ชั้น ทำลายสถิติเดิมเท่าที่เคยมีมา

เมื่อข้ามปีเข้าสู่ปี 2562 ไอคอนสยามถูกลบสถิติลงอีกครั้งเมื่อเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดตัวโครงการ 1.2 แสนล้านบาท บนที่ดินผืนโตเนื้อที่ 104 ไร่ ทำเลหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุอาณาจักรใหญ่ ทำเลทองคำฝังเพชร ด้วยตึกสูงทะลุฟ้า 90 ชั้น ที่ความสูง 430 เมตร สูงที่สุดในประเทศไทย ติด 1 ใน 10 อาเซียน รอสร้างความตื่นตา ชวนสัมผัสให้กับชาวไทยและชาวโลกอีกครั้ง

ยังไม่ทันจะหายตื่นตะลึง เจ้าสัวเจริญ เตรียมแผนสร้างความสูงทำลายสถิติต่อเนื่องทันที และล่าสุดกลับมาเขย่าทำเลริมนํ้าเจ้าพระยา ฝั่งพระนคร ย่านเจริญกรุง บนที่ดินราว 50 ไร่ แปลงติดกับเอเชียทีคปัจจุบัน ที่สำนักวางผังเมือง กทม. ระบุ กลุ่มทีซีซีได้ขอปรับสีผังเมืองเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมหรือพื้นที่สีแดง ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกลุ่มทีซีซี ยืนยันว่าเจ้าสัวเจริญอยู่ระหว่างออกแบบที่ดินแปลงดังกล่าว บริเวณที่ตั้งชิงช้าให้กลายเป็นโรงแรมสูงที่สุดในประเทศไทย ที่ความสูงทำลายทุกสถิติ แม้แต่วันแบงค็อกที่ความสูง 450 เมตร หรือ 100 ชั้นแลนด์มาร์กเลอค่าริมโค้งนํ้าเจ้าพระยา

แหล่งข่าวขยายความต่อว่า โครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี มูลค่าประมาณ3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ดินอีกแปลงฝั่งตรงข้ามติดโรงแรมแมริออทเดิม มีแผนรอพัฒนาเช่นกัน แต่คาดว่าน่าจะเป็นโรงแรม หรือแนวเอเชียทีค

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกโครงการที่น่าจับตา หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจพลิกเกมกลับมาเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศ และยืนหนึ่งในอาเซียนที่ความสูง 615 เมตร หรือ 125 ชั้น นั่นคือซุปเปอร์ทาวเวอร์ของกลุ่มเซ็นทรัลที่เทกโอเวอร์ ต่อมาจากค่ายจีแลนด์ ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพระราม 9 ย่านธุรกิจใหม่ พราวแพรวไปด้วยสุดยอดนวัตกรรม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีเสียงลือออกมาหนาหูตั้งแต่แรกว่า เซ็นทรัลไม่พร้อมที่จะไต่ความสูง ส่งผลให้เวลานี้ตึกที่สูงที่สุดยังคงเป็นของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี นั่นเอง

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563