กุมค้าปลีก CPรวบเทสโก้ สยายอาณาจักรล้านล้าน

13 มี.ค. 2563 | 07:25 น.

เจ้าสัวธนินท์ทุ่ม 3.38 แสนล้าน ฮุบเทสโก้ ไทย-มาเลเซียยังต้องลุ้นหลังบอร์ดแข่งขันทางการค้าจี้ส่งหนังสือขออนุญาต ด้านนักวิชาการโดดขวางมั่นใจเข้าข่ายผูกขาดครบวงจร ชี้เป็นอภิมหาดีลใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ค้าปลีกเมืองไทย ขณะที่อาณาจักรค้าปลีกซีพีพุ่งเฉียด 1 ล้านล้านบาท

ด้วยมูลค่าเบื้องต้นประมาณ 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 338,445 ล้านบาท เหนือคู่แข่งอีก 2 ราย คือ กลุ่มทีซีซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เสนอราคา 3 แสนล้านบาท และกลุ่มเซ็นทรัล ของเจ้าสัวทศ จิราธิวัฒน์ ที่เสนอราคา 2.8 แสนล้านบาท ถือเป็นการซื้อขายธุรกิจในวงการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้ถูกจับตามองว่า สมรภูมิค้าปลีก-ค้าส่งเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนไป แต่การซื้อครั้งนี้ยังต้องลุ้นอีกนาน เมื่อมีเรื่องของการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

CP ปิดดีลฮุบ “เทสโก้เอเชีย”

นับจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 วันสุดท้ายของการยื่นเสนอตัวซื้อกิจการเทสโก้ ในประเทศไทยและมาเลเซียต่อบริษัทแม่ หรือเทสโก้ อิงค์ เพียงระยะเวลา 10 วันคือวันที่ 9 มีนาคม เครือซีพีโดยบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Tesco Holdings Limited และ Tesco Holdings B.V. ปิดดีลมูลค่าเกือบ 3.4 แสนล้านบาทอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้สิทธิในการบริหารเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย และเทสโก้ มาเลเซีย

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหนึ่งที่ถูกพูดถึงและถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขในการซื้อขายครั้งนี้คือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อป้องการกันการผูกขาดหรือการมีอำนาจเหนือตลาด

 

กขค. เร่งพิจารณา

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(สขค.) ขอชี้แจงว่า ผู้ที่จะรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ อาจเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องขออนุญาต รวมธุรกิจ ตามพ.ร.บ.ฯ ข้างต้น โดยจะต้องมายื่นเอกสารการขออนุญาตรวมธุรกิจเพื่อนำเสนอคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.)พิจารณา โดยจะต้องศึกษา วิเคราะห์ขอบเขตตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกหลายประเภท และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า รวมทั้งผู้บริโภค โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะพิจารณาว่าเห็นควรอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการยื่นขออนุญาตรวมธุรกิจ กับทางสำนักงาน และหากมีความจำเป็นสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน

 

นักวิชาการยัน ผูกขาด

ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่เครือซีพีเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสนั้น คงปฏิเสธได้ยากว่าไม่มีการผูกขาด แต่ขึ้นอยู่ว่าจะผูกขาดแบบใด เป็นการผูกขาดแบบแนวราบหรือแนวดิ่ง หรือผูกขาดแบบครบวงจร ซึ่งเป็นการผูกขาดเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยการผูกขาดในแนวราบจะเห็นว่าในเซ็กเมนต์ร้านสะดวกซื้อซึ่งเครือซีพีเป็นเจ้าของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จำนวนกว่า 11,000 สาขา มีส่วนแบ่งตลาด 76% เมื่อรวมกับอันดับ 2 อย่างเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 10% จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 86% ถือว่าเป็นการครอบครองตลาดอย่างสมบูรณ์

ขณะที่การผูกขาดแนวดิ่ง ในกรณีที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีจำนวนสาขาน้อยกว่าเซเว่นอีเลฟเว่น และสินค้าของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสจะตั้งราคาอิงกับเทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต หากเครือซีพีเปลี่ยนร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เป็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อาจส่งผลให้ต้องปรับราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคอาจจะต้องซื้อสินค้าที่แพงขึ้น

กุมค้าปลีก CPรวบเทสโก้ สยายอาณาจักรล้านล้าน

 

กินรวบGrocery Market

อย่างไรก็ดี หากมองภาพรวมของตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารสมัยใหม่ (Total Modern Grocery Market) ซึ่งมีมูลค่ากว่า 9.94 แสนล้านบาท เครือซีพี ถือเป็นผู้นำตลาด โดยเซเว่นอีเลฟเว่นและแม็คโคร มียอดขายรวมกันกว่า 5.21 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับเทสโก้ โลตัสซึ่งมียอดขาย 1.71 แสนล้านบาท จะทำให้เครือซีพี มียอดขายรวมกันในกลุ่มนี้เกือบ 7 แสนล้านบาท ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของเซเว่นอีเลฟเว่นและแม็คโครรวมกัน 53% และเมื่อรวมกับเทสโก้ โลตัสในทุกฟอร์แมตซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 17% จะทำให้เครือซีพี มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 70% ซึ่งเป็นตัวเลขส่วนแบ่งตลาดที่สามารถครอบคลุมและทำลายกลไกการแข่งขันในตลาดค้าปลีก-ค้าส่งได้ทันที

ผศ.ดร.บุปผา กล่าวอีกว่าการควบรวมครั้งนี้ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ซัพพลายเออร์ ที่จัดส่งสินค้าให้กับทั้ง 3 แบรนด์ เพราะเครือซีพีจะมีอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้สูง สามารถกำหนดราคาซื้อขายได้ เมื่อซัพพลายเออร์ถูกบีบหนักเข้า ก็ต้องหนีตายหันไปทำ e-retailing มากขึ้น หากมองในมุมบวกผู้บริโภคจะมีโอกาสได้สินค้าราคาถูก จากการผลิตหรือสั่งซื้อสินค้าในปริมาณที่มาก และการมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนในแต่ละฟอร์แมต จะทำให้สามารถสรรหาสินค้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้สินค้ามีคุณภาพในราคาที่ถูก

 

ซีพี เตรียมออกหุ้นกู้

ล่าสุดนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวว่า คาดว่า กลุ่มซีพีมีแผนออกหุ้นกู้ เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนในการซื้อหุ้นกลุ่มเทสโก้เอเชีย เพราะเคยทำลักษณะนี้ช่วงที่เข้าซื้อหุ้นแม็คโคร เพราะการออกหุ้นกู้จะมีอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับการกู้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยมองว่าแม้บริษัทจะมีหนี้สินมาก แต่ยังมีอันดับเครดิตที่ดี กระแสเงินสดในมือมีจำนวนมาก และยังมีความสามารถในการกู้เพิ่มได้ จากขนาดของบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาดูอีกครั้งว่าดีลการซื้อขายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในวงการค้าปลีกเมืองไทยนี้ จะลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่  

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563