นายพลงักฮุย ต้นแบบแห่งความภักดี และความซื่อตรง (จบ)

11 มี.ค. 2563 | 06:10 น.

 

ในการเดินทัพกลับเมืองหลวงตามหนังสือครั้งที่ 12 นายพลงักฮุยเร่งเดินทัพอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เมื่อกองทัพเข้ามาถึงชานเมืองหังโจวในช่วงเย็น เขาก็เห็นว่าการยกทัพเข้าเมืองหลวงในช่วงกลางดึกดูจะไม่เหมาะสม จึงสั่งให้กองทัพหยุดพักค้างแรมที่วัดแห่งหนึ่ง และวางแผนเดินทางเข้าเมืองในเช้าวันรุ่งขึ้น

ในค่ำคืนนั้นเอง นายพลงักฮุยก็ฝันว่ามีสุนัข 2 ตัวทำท่าจะกัดกัน และเห่ากันจนเสียงอื้ออึง

ครั้นรุ่งเช้า นายพลงักฮุยนำเรื่องนี้ไปให้เจ้าอาวาสซึ่งเป็นเพื่อนของเขาทำนายฝัน เจ้าอาวาสทำนายว่า การเดินทางกลับไปเมืองหลวงคราวนี้จะเดือดร้อนถึงติดคุกติดตาราง เป็นไปตามตัวอักษรจีนที่คำว่า “สุนัข” 2 ตัวหันเข้าหากันมีลักษณะคล้ายตัวอักษร “คุกตะราง”

แม้จะรู้ว่าการกลับเมืองหลวงครั้งนี้อาจหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิต แต่ด้วยความจงรักภักดี นายพลงักฮุยก็ยังนำทัพกลับไปเข้าเฝ้าฮ่องเต้ ซึ่งก็ตามมาด้วยการถูกขังคุกในข้อหากบฏตามคำทำนายฝันจริง

หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ภรรยาของฉิงกวุ่ยมาเกี่ยวข้องได้อย่างไร เพราะปกติผู้หญิงในจีนยุคโบราณจะมีบทบาทด้านการเมืองน้อย ก็มีเรื่องเล่าว่า อันที่จริงแล้ว ในการไต่สวนคดีที่ใส่ความไว้ ขุนนางกังฉินและพวกก็ถูกทัดทานจากขุนนางตงฉินและกระแสคัดค้านของประชาชนที่เห็นในความจงรักภักดีของนายพลงักฮุย จนไม่รู้จะใส่ความเอาผิดนายพลงักฮุยอย่างไรดี

นายพลงักฮุย ต้นแบบแห่งความภักดี  และความซื่อตรง (จบ)

ในค่ำคืนหนึ่งที่เหล่าขุนนางกังฉินและพวกกำลังสมคบคิดกันอยู่นั้น บางคนจึงเริ่มถอดใจและคิดอยากปล่อยตัวแม่ทัพงักฮุย แต่ภรรยาของขุนนางกังฉินก็แสดงความเห็นคัดค้านโดยกล่าวว่า “จับเสือน่ะยาก แต่ปล่อยเสือเข้าป่าไปกลับยิ่งยากกว่า” จนเป็นคำพังเพยที่โด่งดังในสังคมจีนจนทุกวันนี้ ท้ายที่สุดแม่ทัพงักฮุยและครอบครัว ก็ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏท่ามกลางความอาลัยของประชาชน

ราว 21 ปีต่อมาเมื่อฮ่องเต้พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ก็ทรงให้มีการชำระคดี ซึ่งสามารถนำแทนฉิงกวุ่ย ภรรยา และพวกมาดำเนินคดีได้ในที่สุด และต่อมาฮ่องเต้ยังได้ให้ก่อสร้างสุสานของแม่ทัพงักฮุยและครอบครัว โดยพระราชทานบรรดาศักดิ์ระดับอ๋อง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในบรรดาพลเรือนที่จะมีได้

ในบริเวณศาลเจ้า เราจะเห็นรูปปั้นนายทหารใหญ่จำนวนมากยืนอารักขาให้แก่ท่าน และมีแผ่นป้ายหินอ่อนแกะสลักถ้อยคำที่แม่ทัพงักฮุยพูดไว้ก่อนถูกประหารชีวิตว่า “จิตใจอันบริสุทธิ์ของข้าพเจ้า มีฟ้าและดินเป็นพยาน” ซึ่งเป็นอีกวลีเด็ดที่ชาวจีนยังนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

แต่เนื่องจากไม่สามารถหาศพของภริยาของงักฮุยได้ จึงมีเฉพาะหลุมศพของแม่ทัพงักฮุยและลูกชายเท่านั้น มีเรื่องเล่าอีกว่า แม้กระทั่งกระดูกของแม่ทัพงักฮุยก็ต้องไปขุดหาจากยอดเขา เพราะประชาชนที่เทิดทูนท่านแอบขโมยศพขึ้นไปฝังและปลูกต้นสนเป็นสัญลักษณ์ไว้ ส่วนของลูกชายก็ได้แค่เสื้อและหมวกที่เขาชอบใส่มาแทนตัว

 

นอกจากนี้ เบื้องล่างก็มีรูปปั้นเหล็กของขุนนางกังฉินและพวกตั้งอยู่ในกรงขังในสภาพที่นั่งคุกเข่าอยู่ในพันธนาการ โดยฉิงกวุ่ยและภรรยาอยู่ในกรงขังหนึ่ง ขณะที่ผู้พิพากษาและอดีตเจ้านายของงักฮุยอยู่ถัดไปในอีกด้านหนึ่ง

แม้ว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้จะเกิดขึ้นยาวนานเกือบพันปีแล้ว แต่คนจีนก็ยังคงเชิดชูนายพลงักฮุยและเกลียดชังทุรชนทั้ง 4 อยู่ดังเดิม

ขณะที่ผมเดินชมรูปปั้นเหล็กดังกล่าวในศาลเจ้าอยู่นั้น ก็สังเกตเห็นคนจีนที่เดินผ่านมาถ่มน้ำลายและก่นด่าใส่รูปปั้นเหล็ก บางคนมาพร้อมกับครอบครัวก็ยังบอกลูกหลานให้ถ่มน้ำลายใส่และร่วมประณามสาปแช่งอีกด้วย

มีเรื่องเล่าว่า ในการประหารชีวิตทุรชนทั้ง 4 ดังกล่าว ประชาชนต่างอยากแสดงออกถึงความเกลียดชังและร่วมลงโทษให้สาสม จึงเอาแป้งมาปั้นและตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ และแปะติดกันลงทอดในน้ำมันร้อน จนเป็นที่มาของ“อิ่วจาก้วย” ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ “โหยวจ๋าฮุ่ย” ในภาษาจีนกลาง (น้ำมัน-ทอด-แป้ง) หรือคนไทยเรียกว่า “ปาท่องโก๋” และเอร็ดอร่อยในยามเช้ากันจนทุกวันนี้นั่นเอง

นอกจากนี้ ภายในศาลเจ้ายังมีสะพานโค้งขนาดย่อมที่ฮ่องเต้ใช้ทดสอบความซื่อตรงในการทำงานของข้าราชบริพาร ทั้งนี้เนื่องจากจีนในสมัยนั้นมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันกันมากจนประชาชนต่างเอือมระอา ฮ่องเต้ในยุคนั้นจึงได้ออกกุศโลบายว่า สะพานแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อข้าราชการคนใดที่คอร์รัปชันโกงบ้านกินเมืองเดินขึ้นสะพานจะลื่นหกล้มและไม่สามารถเดินข้ามสะพานได้ เหล่าขุนนางกังฉินต่างไม่กล้าเดินขึ้นสะพานดังกล่าว ทำให้ฮ่องเต้ทรงทราบว่าขุนนางคนใดบ้างที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

แม้ตัวหนังสือบนแผ่นหลังของนายพลงักฮุย จะไม่มีโอกาสได้ถูกเติมขีดจนครบตัวอักษร แต่ความมุ่งมั่นในความภักดีและซื่อตรงต่อประเทศชาติก็ให้ข้อคิดและเป็นต้นแบบในการดำรงตนที่ดีของชาวจีนจวบจนปัจจุบัน ...

 

คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน