ลุย ฟีดเดอร์ เชื่อมรถไฟฟ้า

14 มี.ค. 2563 | 07:25 น.

แม้รถไฟฟ้าสายใหม่และส่วนต่อขยายเริ่มทยอยเปิดให้บริการ แต่กลับพบว่าปริมาณรถบนท้องถนนยังคงคับคั่งอยู่มาก ประเมินว่าระบบโครงข่ายยังไม่เชื่อมถึงกันเป็นเนื้อเดียว ส่งผลให้ดึงคนให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะจึงยากขึ้น สำหรับทางออก นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้สัมภาษณ์ว่า สนข.มีแผนแก้ไขปัญหาการจราจรอำนวยความสะดวกจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น 3 เรื่อง ประกอบด้วย

สร้างฟีดเดอร์

เรื่องแรก การบริหารจัดการบนท้องถนน ปรับหรือเพิ่มเส้นทาง เชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) ระหว่างรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้า ในปัจจุบันภาครัฐได้พัฒนารถไฟฟ้าฯ และเปิดให้บริการแล้วราว 25% ในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าฯ มากกว่า 50-60% ซึ่งทุกปีจะทยอยเปิดให้บริการรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้น เมื่อมีการสร้างรถไฟฟ้า การเชื่อมต่อบริเวณจุดต่างๆ ของสถานีรถไฟฟ้าจะต้องเชื่อมต่อระหว่างกัน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่กำลังจะเปิดให้บริการยังไม่มีรถฟีดเดอร์ที่ให้บริการประชาชนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงสถานีสายสีแดง หากแผนนี้นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาเห็นชอบจะสามารถดำเนินการได้ทันที

ลุย ฟีดเดอร์ เชื่อมรถไฟฟ้า

สำหรับเรื่องที่ 2 เป็นแผนโครงการรางต่อเรือ ในปัจจุบันมีคลองหลายแห่งที่สามารถเป็นเส้นทางสัญจรทางนํ้าได้ แต่ไม่มีท่าเรือที่อยู่ใกล้บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาคลองหลายแห่ง เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางมากขึ้น

“ในขณะเดียวกันเราจะปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง โดยทุกเส้นทางที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการใช้เส้นทางนั้นๆ เราก็จะนำเส้นทางเหล่านี้มาศึกษาด้วย”

อากาศยานไร้คนขับ

ขณะแผนสุดท้ายลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOC ด้านการขนส่งจราจรบนถนนกับกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคม โดยเป็นการใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของหน่วยงานราชการที่มีอยู่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่สามารถบินได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้นักบิน ในระยะทางถึง 200 กิโลเมตร รวมทั้งมีกล้องเพื่อสำรวจเส้นทางจราจรบนท้องถนนในการเก็บภาพการจราจร ช่วงเทศกาลต่างๆ โดยภาพที่ถูกบันทึกจากอากาศยานไร้คนขับ จะถูกส่งข้อมูลให้กับศูนย์บัญชาการฯ ซึ่งจะนำไปใช้กับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เบื้องต้นจะเริ่มทดลองใช้กับกรมทางหลวง (ทล.)และกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเริ่มเซ็น MOC ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้

 

ลุย ฟีดเดอร์ เชื่อมรถไฟฟ้า

 

นอกจากนี้หากใช้เครื่อง UAV ได้ จะทำให้ประหยัดต้นทุนการศึกษาการจราจรบนท้องถนนและการตั้งงบประมาณ รวมถึงไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาเพิ่ม ในขณะเดียวกันเมื่อเราตรวจงานดูความคืบหน้าการก่อสร้าง เช่น รถไฟทางคู่ เมื่อมีการสำรวจเส้นทางบนท้องถนนและต้องการรู้สภาพภูมิประเทศว่าเป็นอย่างไร ควรแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างไร จะทำให้เห็นความคืบหน้าการก่อสร้างได้ทุกๆ เดือน โดยภาพที่ถูกบันทึกนี้จะแสดงรายละเอียดได้ชัดเจนกว่าภาพถ่ายทางดาวเทียม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของเรา เพื่อนำอุปกรณ์ของหน่วยงานราชการมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหาจราจรด้วยเทคโนโลยี

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม พ.ศ. 2563

ลุย ฟีดเดอร์ เชื่อมรถไฟฟ้า