"ซีพี"กู้เต็ม3.38 แสนล้าน ซื้อ"เทสโก้" ฉุดหุ้น CPALL-CPF ร่วง

10 มี.ค. 2563 | 01:00 น.

เปิดดีลซีพี ซื้อกิจการเทสโก้ไทย-มาเลยเซีย ใช้แหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินเต็ม 3.38 แสนล้านบาท โบรกมองราคาซื้อสูงกว่าตลาดคาด10% P/E ที่ 43 เท่า ภาระดอกเบี้ยจ่ายส่งผลหนี้สินต่อทุนปรับเพิ่ม 1.6-1.7 เท่า กดหุ้น CPALL- CPF ร่วง

 

การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซีย ภายใต้ชื่อกลุ่มเทสโก้เอเชีย มูลค่า 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี เป็นการเข้าไปซื้อกิจการทางอ้อม ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุนภายใต้ชื่อบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง ถือหุ้น 40% ,บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) หรือ CPALL ถือหุ้น 40% และบริษัท ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) ถือหุ้น 20% (CPM เป็นบริษัทย่อยที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ CPF  ถือหุ้นทั้ง 100% ) จากนั้นบริษัทโฮลดิ้ง จะตั้งบริษัทลูกที่ตัวเองถือ 100% ภายใต้ชื่อบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายครั้งนี้ คาดดีลการซื้อขายจะเสร็จสิ้นภายในครึ่งปีหลัง เนื่องจากต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและกระทรวงการค้าของมาเลยเซีย และผู้ถือหุ้นของเทสโก้

แหล่งเงินในการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ ผู้บริหารกลุ่มซีพี กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting )ว่าวงเงินลงทุน 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะมาจากการเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศเต็มจำนวน โดยเป็นการกู้เงินเพื่อใส่ในส่วนของทุนตามสัดส่วนการถือ ประกอบด้วย CPALL 40% จำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (95,981 ล้านบาท) ,บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง  40% จำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 95,981 ล้านบาท )และ CPF สัดส่วน 20% จำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 47,991 ล้านบาท) รวม 3 บริษัท เป็นวงเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 240,000 ล้านบาท ) ส่วนเงินลงทุนอีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นการกู้โดยบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด   

นางสาวธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าเนื่องด้วยดีลนี้ใช้เงินกู้และเงินสดจากการดำเนินงาน หลังจากกู้เงินแล้วบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ตามมา  เบื้องต้นคาดจะส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E)เพิ่ม โดยในส่วนของ CPALL จะเพิ่ม 0.94 เท่า เป็น 1.5-1.6 เท่า และหากประเมินผลสุทธิจากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการถือ 40%ในบริษัทเทสโกกับรายจ่ายดอกเบี้ยที่คำนวณไว้ จะทำให้กำไรสุทธิ CPALL ลดลงประมาณ 2-3%  ส่วน CPF หนี้สินต่อทุนจะเพิ่มเป็น 1.6-1.7เท่า  โดยราคาที่เข้าซื้อเทสโก้ คิดเป็น PE ประมาณ 43 เท่า EV/EBITDA 12.5 เท่า   เทสโก้ มีกำไรปี 2562 (ตั้งแต่มีนาคม 61- กุมภาพันธ์ 62 )อยู่ที่ 7,800 ล้านบาท

"การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ ทำให้โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในไทยมาอยู่ในมือคนไทยมากขึ้น แต่เชื่อว่าการแข่งขันยังมีอยู่ เพราะเทสโก้ยังโฟกัสในธุรกิจค้าปลีก ช่วงแรกจะเป็นเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ขาย ส่วนของพื้นที่เช่า คาดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจของการค้าขนาดเล็ก เทสโก้เอ็กเพรส อาจมีการเปลี่ยนชื่อ แต่หลังจากนั้นผลการซีเนอร์ยี่จึงจะเกิดขึ้น

บล.กสิกรไทย ให้น้ำหนักเป็น neutral  เนื่องจากในช่วงสั้น บริษัทฯมีภาระต้องชำระคืนเงินกู้ เน้นจ่ายดอกเบี้ยอย่างน้อยปี 63-64  ประกอบกับการทำกำไร การบริโภคภายในประเทศและเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก จึงอาจไม่มีกำไรส่วนเพิ่มจากดีลนี้ "

หุ้น CPALLและ CPF หลังแจ้งตลาดหุ้นในช่วงบ่าย ( 9 มี.ค. 63 ) ได้ปรับลดลง หุ้น CPALLปิดตลาดปรับลดลง 5.50 บาท หรือ - 7.94% มาอยู่ระดับ 63.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 6,420 บาท  หุ้น CPF ปรับลดลง 3.30 บาท หรือ -12.00% อยู่ระดับ 24.20 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,477 ล้านบาท 

นางสาวธรีทิพย์ มองว่าสาเหตุที่หุ้นทั้ง 2 ตัวปรับลง มาจากดีลซื้อขายซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดประมาณ 10% จากเดิมที่คาดว่าจะใช้ลงทุนราว 3 แสนล้านบาทบวกลบ และเป็นการใช้วงเงินกู้ทั้งจำนวน ส่งผลต่อหนี้สินต่อทุนปรับเพิ่ม
 

"ซีพี"กู้เต็ม3.38 แสนล้าน ซื้อ"เทสโก้" ฉุดหุ้น CPALL-CPF ร่วง