กลุ่มซีพี ทุ่ม 3.38 แสนล้าน คว้า "เทสโก้"ไทย-มาเลเซีย

09 มี.ค. 2563 | 07:32 น.

กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ CPALL และบริษัทในเครือ บจก.เมอร์แชนไดซิ่ง และบจก.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง คว้าเทสโก้ไทย-มาเลเซีย วงเงินลงทุน 3.38 แสนล้านบาท.

กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ชนะการประมูลเทสโก้โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยวงเงิน 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.38 แสนล้านบาท 

บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน (economic interest) ในสัดส่วนไม่เกิน 40% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (เทสโก้ประเทศไทย") ซึ่งถือหุนในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย และ (ข) Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (เทสโก้ประเทศมาเลเซีย) ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย

การลงทุนดังกล่าวของบริษัทจะเป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยเงินลงทุนของบริษัทในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 95,981 ล้านบาท

ด้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทชี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด ลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ "กลุ่มเทสโก้เอเชีย” มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับประมาณ 47,991 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียจะเป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายหุ้น โดยรายการลงทุนตังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนตามที่กำหนดไว้สำเร็จครบถ้วน ซึ่งรวมถึง Tesco PLC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของผู้ขาย ได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับการขายหุ้นในกลุ่มเทสโก้เอเซีย

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อนุญาตให้ Tesco Holdings Limited ขายหุ้นในเทสโก้ประเทศไทยให้แก่บริษัทผู้ซื้อ และ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs of Malaysia อนุญาตให้มีการขายหุ้นในเทสโก้ประเทศมาเลเซียให้แก่บริษัทผู้ซื้อ โดยคาดว่าเงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจะสำเร็จภายในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563

นอกจากนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด  ยังถือหุ้นในสัดส่วน 40% โดยมูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนที่บริษัทผู้ซื้อตกลงที่จะชำระให้แก่ผู้ขายสำหรับธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย ภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท) คำนวณบนสมมติฐานกรณีกิจการไม่มีหนี้สินและเงินสด (a cash and debt free basis)

 

ปัจจุบันเครือซีพี  เป็นเจ้าของกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ 2 รายคือ  “เซเว่น อีเลฟเว่น” โดยบมจ. ซีพี ออลล์ และ “แม็คโคร” โดยบมจ.สยามแม็คโคร  แม้แบรนด์หนึ่งจะเป็นร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียน สโตร์ และอีกแบรนด์เป็นศูนย์ค้าส่ง หรือแคช แอนด์ แครี่ แต่ต้องยอมรับว่าทั้งสองแบรนด์เป็นเบอร์ 1 ในตลาด 

ปี 2561 บมจ. ซีพีออลล์ มีรายได้รวม 5.27 แสนล้านบาท  เติบโต 7.9% มีกำไร 2.09 หมื่นล้านบาท ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 2.82 แสนล้านบาท เติบโต 9.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 1.05 หมื่นล้านบาท 

กลุ่มซีพี ทุ่ม 3.38 แสนล้าน คว้า "เทสโก้"ไทย-มาเลเซีย

ขณะที่ บมจ. สยามแม็คโคร มีรายได้รวม 1.88 แสนล้านบาท เติบโต 3.2% มีกำไร 5,942 ล้านบาท  ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 1.03 แสนล้านบาท   มีกำไร 2,703 ล้านบาท 

รวมเครือซีพี มีรายได้จากกลุ่มค้าปลีก 2 รายใหญ่นี้กว่า 7 แสนล้านบาท หากซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสสำเร็จ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก  1.98 แสนล้านบาท  นั่นหมายความว่าเครือซีพี จะมีรายได้จากธุรกิจค้าปลีกเกือบ 1 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท  

 

ด่วน! กลุ่มซีพีชนะการประมูล TESCO