บิ๊กวงการรุมต้านร่างกม.ยาง ผวาผิดโทษหนัก

13 มี.ค. 2563 | 05:40 น.

บิ๊กวงการรุมค้านร่างกฎหมายแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา อ้างศึกษาไม่รอบด้าน หวั่นซื้อแพง-ขายถูกขัดกลไกค้าเสรี ทำธุรกิจเจ๊ง “ไทยรับเบอร์” ค้าน ผวาทำผิดเจอโทษหนัก “ไทยฮั้ว” ชี้อาจถูกคู่แข่งฟ้อง WTO บิ๊กกองทุนฯ ชี้ลอกกฎหมายอ้อยทั้งดุ้นเกรงปัญหาตามมาอื้อ

 

เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ...ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป โดยร่างนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะเป็นผู้เสนอ

นายปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเชิงหลักการการแบ่งปันผลประโยชน์นั้นเป็นหลักการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไรให้เกษตรกร และผู้ประกอบการทั้งหมดอยู่ได้ด้วยกันทุกฝ่าย รวมถึงประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ แต่ถ้าทำไปแล้วเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ผู้ประกอบการแข่งขันไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์

บิ๊กวงการรุมต้านร่างกม.ยาง  ผวาผิดโทษหนัก

                                     ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์

“ปัจจุบันโรงงานยางพาราทุกประเภทมีกว่า 300 โรง การแข่งขันก็สูงอยู่แล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่โมเดลที่ดีสำหรับเรื่องยางพารา และยางพาราก็มีหลายชนิด แล้วการที่ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ว่าจะเป็นยางยืด หรือถุงมือยางเข้ามาปักหลักในประเทศไทยก็มีความต้องการที่อยากจะได้วัตถุดิบอย่างสม่ำ เสมอ และราคาถูก ซึ่งนโยบายอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำยางสดดี แต่ยางแผ่นดิบและยางแท่งจำนวนลดลง แล้วโรงงานยางล้อที่มีความต้องใช้ยางแท่งและยางแผ่นดิบจะอยู่ได้อย่างไร”

ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญคือ การกำหนดราคายางพาราล่วงหน้าในตลาดโลกปฏิบัติได้ยาก เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้น-ลงตลอดเวลา ถ้าส่งออกขายไม่ได้ แล้วใครจะไปรับซื้อยางจากเกษตรกรในเมื่อกลไกไม่เสรี ใครจะเอาไปแปรรูป กฎหมายเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพาราที่กำลังผลักดันตนไม่เห็นด้วย ควรจะศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน

สอดคล้องด้านนายกรกฏ กิตติพล ผู้จัดการฝ่ายตลาด บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า ก่อนที่กฎหมายจะออกต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่าส่วนได้-ส่วนเสียเป็นอย่างไร ทำไมร่างกฎหมายจึงออกมาอย่างนี้ ทั้งนี้ต้องมีความเข้าใจในเรื่องยางพาราสินค้าเกษตรที่มีความซับซ้อนมากกว่าอ้อยและน้ำตาลมาก อาทิ 1.พื้นที่ปลูก ซึ่งวันนี้ก็ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น พื้นที่จำนวน 1 ไร่ มียางพารากี่ต้น มีผลผลิตเท่าไร พันธุ์ไหนควรจะปลูก แต่อ้อยปลูกระยะสั้น แค่ 4 เดือน แล้วเก็บผลผลิต แต่ยางพาราปลูกและให้ผลผลิตระยะยาว

บิ๊กวงการรุมต้านร่างกม.ยาง  ผวาผิดโทษหนัก

                                                    กรกฏ กิตติพล

โดยยางพาราปลูกแล้วให้ผลผลิต 20-30 ปี พันธุ์ยางก็มีแตกต่างกัน และให้น้ำยางแตกต่างกัน เช่น บางพันธุ์ให้น้ำยาง 240 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ต่อปี บางพันธุ์ 300 กก.ต่อไร่ต่อปี จะนำมาคำนวณแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีโรงงานมาก แต่จำนวนพื้นที่ปลูกยางน้อย จะทำอย่างไรจะแบ่งอย่างไร ผลสุดท้ายกองทุนก็จะมาชดเชยไม่ไหว ซึ่งถ้ารัฐบาลอุดหนุนมากเกินไปประเทศคู่แข่งส่งออกก็อาจจะฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) ซ้ำรอยกับสินค้าอ้อยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ด้านนายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป กล่าวว่า จากที่ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็มีความน่าสนใจในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ เพราะคาดว่าจะได้ผลประโยชน์ จึงได้ไปไล่อ่านในมาตรา 52 ในกรณีที่ราคายางพาราสุดท้ายหรือค่าผลประโยชน์อื่นจากยางพาราขั้นต้นให้กองทุนจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานหรือผู้จัดจำหน่ายยางพาราเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว ซึ่งเห็นด้วยเพราะอย่างนี้ดำเนินธุรกิจได้ไม่มีขาดทุน และไม่ต้องคิดมากไม่ต้องบริหารราคา แต่เมื่อไปดูบทลงโทษมาตรา 60-70 (กราฟิกประกอบ) โรงงานอาจติดคุกด้วย ซึ่งไม่เห็นด้วย 

บิ๊กวงการรุมต้านร่างกม.ยาง  ผวาผิดโทษหนัก

                                                 วรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

บิ๊กวงการรุมต้านร่างกม.ยาง  ผวาผิดโทษหนัก

 

ที่สำคัญใน พ.ร.บ.นี้เขียนถึงแค่ต้นน้ำ และกลางน้ำ แต่ขาดปลายน้ำ ไม่มีกล่าวถึงเลย แล้วถ้าคนไทยใช้ราคายางแพงกว่าต่างประเทศ เพราะต้องกำหนดราคายางให้แพง ปลายน้ำต้องซื้อวัตถุดิบที่แพงการบริโภคภายในรัฐมีงบประมาณเท่าไรที่จะอุดหนุน ซึ่งหากอุตสาหกรรมปลายน้ำอยู่ไม่ได้ก็ต้องออกไป ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีผลผลิตยางพาราประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ส่งออกไปก็ขาดทุน สุดท้ายกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางก็จะแปรสภาพเป็นกองหนี้

“ผมเป็นห่วงว่าพรรค การเมืองจะรับฟังความเห็นเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น เพราะตัวอย่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีหลายเรื่องที่ถูกคัดค้าน แต่พอเข้าไปในที่ประชุมก็เป็นไปตามโผที่เขียนไว้ไม่มีอะไรที่แก้ไขให้เลย”

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวสั้นๆ ว่า ได้สั่งการแล้วให้ตั้งคณะขึ้นมาเพื่อชี้แจงถึงข้อดีและข้อเสียของร่าง พ.ร.บ.นี้ต่ออุตสาหกรรมยางพาราไทย

บิ๊กวงการรุมต้านร่างกม.ยาง  ผวาผิดโทษหนัก

                                           ขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล

ขณะที่ นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทุกฝ่ายมีความง่ายกว่า แต่ยางพารามีความหลากหลายเกินกว่าที่จะไปกำกับดูแลได้ พรรคภูมิใจไทยจะลอกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งฉบับมาใช้ไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหาตามมามากมาย 

บิ๊กวงการรุมต้านร่างกม.ยาง  ผวาผิดโทษหนัก

                                               วีระศักดิ์ ขวัญเมือง

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563