“โคโรนา”เอฟเฟกต์ทุบ SMEs กระอักอาจถึงตาย

08 มี.ค. 2563 | 01:02 น.

คอลัมน์ : Let  Me Think
โดย      : TATA007

 

วันนี้ทั่วโลกต่างผวาพิษไวรัสโคโรนาที่ขยายวงไปทั่ว ดูจากตัวเลขแล้วน่าตกใจ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2563  มีจำนวนยอดผู้ป่วยทั่วโลกรวมทะลุ 1 แสน ราย และผู้เสียชีวิตรวมกว่า 3,500 คน ไวรัสโคโรนากำลังเป็นมหันตภัยร้ายที่กำลังทุบเศรษฐกิจโลกแบบถอนรากถอนโคน

วิกฤติไวรัสโคโรนากินเวลาผ่านไปแล้วกว่า 2 เดือน ทำเอาผู้ประกอบการรายใหญ่ถึงกับปาดเหงื่อ  ไข้ขึ้น  ตกอยู่ในอาการช็อกไปตามๆกัน นับประสาอะไรกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่เวลานี้บางรายยอมรับว่าแทบกระอักและถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายืดเยื้อต่อไปถึงกลางปี  หรือลากยาวไปถึงไตรมาส 4 ปีนี้  บอกได้คำเดียวเอสเอ็มอีอีกหลายรายต้องยกธงขาว   ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นได้ ยกเว้นรายนั้นมีสายป่านยาวหรือเจ้าหนี้ยอมยืดหนี้ให้แบบยาวๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง  

วันนี้หันไปมองภาพรวมผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในพื้นที่แต่ละภาค ล้วนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า  “วิกฤตินี้สาหัสนัก นับตั้งแต่ตั้งกิจการมา เพราะลามไปทั้งโลกตัดวงจรชีวิต  นอกจากจะใช้ชีวิตประจำวันที่ยากลำบากขึ้นแล้ว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก  ทั้งคำสั่งซื้อ  สายพานการผลิต  เส้นทางขนส่ง   ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์  ภาพเหล่านี้เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นถึงผลพวงที่ตามมาเป็นทอดๆ  

 สอดคล้องกับมุมมอง ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานกิตติมศักดิ์ สมาพันธ์ SME ไทยกล่าวว่า เมื่อภาคท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่งออกเป็นง่อย ค้าปลีกและค้าส่งอยู่ในสภาพพิการ  ธุรกิจบริการผวา Supply Chain ทั้งโลกชะงัก ทำให้เงินหยุดทำงาน  ขณะที่ความเชื่อมั่นหายไปหมด  และทางออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็หนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ คือปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออก วิ่งบริหารจัดการ Cash Flow ดูแลลูกค้ามีการยืดหยุ่นให้ลูกค้าตามกำลัง  คู่ขนานไปกับการวิ่งหาสินเชื่อและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ยอมรับว่าเหนื่อย!

ดังนั้นการรับมือของภาครัฐในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีต้องรีบเข้าไปเสริมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อ SMEs ดอกเบี้ยต่ำและอนุมัติได้เร็ว  รวมถึงอัดฉีดเม็ดเงินสร้างกำลังซื้อ มีการรณรงค์ให้เที่ยวไทยและใช้สินค้าไทย รวมถึงลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทุกหน่วยงานภาครัฐคิดนโยบายช่วยลดรายจ่ายของภาคประชาชนและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เช่น รถเมล์และรถไฟฟรี  สร้างงานและจ้างงาน ให้ผู้สูงอายุ หรือคนที่ว่างงานมาตัดเย็บหน้ากากป้องกัน COVID-19 เพื่อกระจายรายได้ และเพื่อลดการขาดแคลนหน้ากาก  รวมถึงเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้เร็วขึ้น

ขณะที่ผู้ประกอบการอีกรายมองว่า สถานะของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในมุมมองส่วนตัว มี 2 ทางหากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาลุกลามไปถึงปลายปี  ทางแรก เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่เลี้ยงไข้ไปเรื่อยๆ ยังพอมีสายป่านยาวและสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้  ทางที่ 2 เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องปิดตัว หลังจากที่แบกรับภาระจนหลังแอ่น ไม่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้อีกต่อไป

“ยอมรับว่าทำธุรกิจเริ่มเหนื่อย  ท้อแท้  พอธุรกิจจะดีขึ้นเราก็มาเจอปัญหาค่าแรงพุ่ง  เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง สงครามการค้าจีน-อเมริกา กระทั่งเลวร้ายสุดคือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา”

เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ตอกย้ำให้เห็นภาพว่า เจอวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบนี้ แล้วธุรกิจเล็กๆจะขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไร

คำว่า “เศรษฐกิจเผาจริง” มันใกล้เข้ามาทุกที  ผู้ประกอบการไทยคงต้องใช้ความอดทนสูงที่จะฝ่าฟันโจทย์หินนี้ไปได้ เพราะถึงเวลานี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าไวรัสโคโรนาจะลากยาวต่อไปอีกนานแค่ไหน 3 เดือน หรือครึ่งปีหรือลากยาวไปถึงปลายปี และกว่าจะใช้เวลาฟื้นฟู ถึงตอนนั้น SMEs คงต้องกระอักอาจถึงตายได้

2563 เศรษฐกิจ เผาจริง!!!