หมอเสริฐ‘ราชาเทกโอเวอร์’ เปิดศึก‘ชัย-พญามังกรเร้นกาย’

08 มี.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3555 หน้า 8 ระหว่างวันที่ 8-11 มี.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

 

          เขย่าวงการตลาดหุ้นตลาดทุนที่สุดต้องยกให้ราชาเทกโอเวอร์ “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) ที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 50 แห่ง จนติดอันดับ 5 ของโลก ภายใต้ชื่อ กลุ่มรพ.สมิติเวช, กลุ่มร.พ.พญาไท, กลุ่มร.พ.เปาโลและกลุ่มร.พ.บี เอ็น เอช รวมกว่า 8,200 เตียง มีรายได้รวมปีละ 75,000 ล้านบาท มาร์เก็ตแคปสูงถึง 399,701  ล้านบาทได้ยื่นขอซื้อหุ้นทั้งหมดของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ขนาด 580 เตียง ที่มีมูลค่าตลาด 95,478 ล้านบาท  

          เกมนี้ “ราชาเทกโอเวอร์-หมอเสริฐ” อาจจะต้องใช้เงิน 85,612 ล้านบาท หากจะเข้าซื้อในราคา 125 บาทต่อหุ้น จากผู้ถือหุ้น 13,819 ราย และหากขยับราคาขึ้นไปอีก 20% จะตกไม่น้อยกว่า 1.03 แสนล้านบาท จากที่ถืออยู่แล้ว 181,660,706 หุ้น หรือตกประมาณ 24.92%

          อย่างไรก็ตาม ราคาที่ตั้งโต๊ะรับซื้ออาจต่ำกว่าราคาที่ BDMS เคยซื้อ BH ล่าสุดซึ่งสูงถึง 186 บาท

          ปฏิบัติการ Hostile Takeover ซึ่งในทางธุรกิจเป็นการครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตรของ “หมอเสริฐราชาเทกโอเวอร์” ครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะถือเป็นการเปิดศึกใหญ่ครั้งแรก กับทายาทธนราชัน ที่มี “พญามังกรเร้นกาย-ชัย โสภณพนิช” วัย 70 ปี ทายาทคนที่ 5 ผู้รับมรดกตกทอดมาจาก เจ้าสัวชิน โสภณพนิช เป็นผู้ดูแล

          จากเดิมที่เคยเข้าซื้อหุ้นเมื่อปี 2554 ในราคาหุ้นละ 29 บาท ในสัดส่วน 11.1% ซึ่งตอนนั้นว่ากันว่าเป็นการเจรจาซื้อ

          ผมพาทุกท่านมาพิจารณาเรื่องนี้เพราะนี่คือศึกของ “ธนราชัน” กับ “อดีตลูกค้ารายใหญ่” ผู้ได้รับการประคบประหงมมาจากกลุ่มธนาคารกรุงเทพ จนปัจจุบันกลายเป็นมหาเศรษฐีใหญ่ กลุ่มโสภณพนิชอุ้มชู “ปราสาททองโอสถ” มาตั้งแต่ยุคหมอเสริฐตั้งบริษัท สหกลแอร์ จำกัด แยกตัวออกมาจาก บริษัท กรุงเทพสหกล จำกัด ในปี 2527 และตั้งเป็นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ในปี 2532

          ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพ ยังถือหุ้นใหญ่ในบางกอกแอร์เวย์สประมาณ 105,000,000 หุ้น หรือ 5% และมีการนำ บลจ.บัวหลวงเข้าไปอุ้มชูในหุ้นผ่านกองทุนจิปาถะอีกไม่น้อยกว่า 140 ล้านหุ้น และมีเครือข่ายของโสภณพนิชไปถือหุ้นในโรงพยาบาลในเครือ BDMS ไม่น้อยกว่า 200 ล้านหุ้น

          ขณะที่นับตั้งแต่มีการสร้างอาณาจักร “ธนาคารกรุงเทพ-กรุงเทพประกันภัย-บริษัทยูเนี่ยนอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ บริษัทรองเท้าบาจา” กลุ่มนี้ไม่เคยให้ใครมาย่ำยีหัวใจ นอกจากจะปล่อยมือไปด้วยการเจรจาและร้องขอเยี่ยงมิตรหรือผู้น้อย

          “ไผ่ร้อยกอ” ในกลุ่มบริษัทของพี่น้อง “โสภณพนิช” ที่กระจายออกไปในชื่อ วัฒนโสภณพนิช วัฒนโชติ วัฒนชัย วัฒนชดช้อย วัฒนเชิดชู วัฒนชาญ ชาตรีโสภณโรบินชานโฮลดิ้ง CR HOLDING ไม่เคยโดนนักธุรกิจคนใดในปฐพีนี้บุกมาตบหน้าประชิดติดประตูถิ่น ยกเว้นรัฐบาล

หมอเสริฐ‘ราชาเทกโอเวอร์’ เปิดศึก‘ชัย-พญามังกรเร้นกาย’

 

          ปัจจุบันกลุ่มชัย โสภณพนิช และทายาทถือหุ้น BH ในนามส่วนตัวและนอมินีก็ไม่น้อยนะครับ

          เท่าที่ผมทราบจากคนในกลุ่มธนราชันพบว่า ธุรกิจธนาคาร-ประกันภัย-ประกันชีวิต-โรงพยาบาลแห่งนี้ เป็น “กองมรดกโสภณพนิช” ที่ตั้งขึ้นมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2523 ถือหุ้นอยู่ในนามส่วนตัวและนอมินีประมาณ 28%

          ซ่อนกาย อยู่ในนามบริษัท กรุงเทพประกันภัยฯ 14.65% UOB Kay Hian Hongkong  8.44% บริษัท วัฒนโสภณพนิชฯ ที่ชัยกุมบังเหียนอยู่ 3.59% กองทุน  GIC สิงคโปร์ 1.74%STATE STREET EUROPE LIMITED 12,305,427 หุ้นตก 1.69% บริษัทบริหารสินทรัพย์ทวีฯ 11,381,614 หุ้น ตก 1.56% ชัย โสภณพนิช 1.40%

          ซ่อนรูปในนาม N.C.B.TRUST LIMITED-NORGES BANK 5,391,646 หุ้น ตก 0.74% SOUTH EAST ASIA UK (TYPE A) NOMINEES LIMITED อีก 5,274,673 หรือ 0.72% ชาลี โสภณพนิช 0.72% ชาตรี โสภณพนิช 0.51% และบริษัทกรุงเทพประกันชีวิตฯอีกหลายล้านหุ้น

          เจ้าสัว ชิน โสภณพนิช พญามังกรธุรกิจธนาคารกรุงเทพ ได้ฝากมรดกของตระกูล “โสภณพนิช” ให้ลูกทั้ง 7 คนช่วยดูแล ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มอบหมายให้ ชาตรี โสภณพนิช ทายาทคนที่ 2 เป็นผู้ดูแล ปัจจุบันอยู่ในมือของ “ชาติศิริ โสภณพนิช” ผู้พูดน้อยต่อยหนัก

          ธุรกิจประกันภัย เสาหลักหนึ่งของตระกูลยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ กรุงเทพประกันภัย กรุงเทพประกันชีวิตและโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บริษัทในกลุ่มนี้เจ้าสัวชิน มอบหมายให้ ชัย โสภณพนิช ทายาทคนที่ 5 ที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและเคยทำหน้าที่สำคัญในแบงก์กรุงเทพมาก่อนที่ชาตรี จะก้าวขึ้นมาดูแล

          ชัย ถูกวางตัวให้เข้ามาดูแลกิจการในกลุ่มประกันภัยของตระกูล และรับผิดชอบในการบริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาตั้งแต่ปี 2518-2519 ภายหลังได้โยกกิจการของกรุงเทพประกันชีวิตให้น้องชายคนเล็ก เชิดชู โสภณพนิช เป็นผู้ดูแลกิจการก่อนส่งไม้ให้ โชน โสภณพนิช อย่างเต็มตัว

 

          ธุรกิจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นั้น ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างดีให้ตระกูลนี้ เหตุเพราะ 1. BH มีผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติมากที่สุดในไทยมากถึง 66% 

          2.ระยะเวลา 8-10 ปี BH ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลได้อย่างต่อเนื่องมากกว่า 15 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 5-7% โดยราคาค่ารักษาพยาบาลที่นี่จะสูงกว่าปกติ 2 เท่าตัว โดยไม่ค่อยถูกด่า

          ขณะที่หมอเสริฐนั้นมีผลประโยชน์ในหุ้น BH อยู่แล้ว ผ่านการลงทุนของ BDMS 118 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท

          ในอดีตหมอเสริฐเคยดำเนินการกวาดซื้อหุ้นแบบ Hostile Takeover มาแล้วหลายรอบเข้าซื้อโรงพยาบาลสมิติเวช (SVH) จนเป็นเจ้าของในสัดส่วน 95.76% ซื้อหุ้นโรงพยาบาลธนบุรี หรือ KDH ในสัดส่วนถึง 34.43% 

          เข้าเทกโอเวอร์โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ด้วยการไล่ซื้อหุ้นในตลาดจนได้เป็นเจ้าของหุ้นใหญ่ 38.24% แทนที่กลุ่ม นพ.เอื้อชาติ กาญจนสุวรรณมาแล้ว แต่ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าเทกโอเวอร์ได้ จนกระทั่งได้เทขายหุ้นออกไปทั้งหมดเมื่อเดือนมกราคมปีก่อนหน้า และได้เงินสดมา 12,800 ล้านบาท

          ถึงตอนนี้ หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เปิดศึกชิงบำรุงราษฎร์จาก ชัย โสภณพนิช ซึ่งกลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นอันดับ 2 แต่เคยเป็นเจ้าของอาณาจักรมาก่อน “โสภณพนิช” จะยอมเสียดินแดนให้ “หมอเสริฐ” หรือไม่ ผมว่าศึกใหญ่แค่เริ่มปะทุเท่านั้น

          ทางออกของการซื้อกิจการโรงพยาบาลเอกชนของมหาเศรษฐียังสู้กันอีกหลายยก! และเชื่อว่าไม่ใครก็ใครแผลเหวอะหวะ

          บล.หยวนต้าฯบอกว่า หากดีลดังกล่าวสำเร็จจะทำให้ BDMS กินรวบธุรกิจโรงพยาบาลส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 และใช้เงินสูงถึง 85,612-1 แสนล้านบาท ทำให้ต้องมีภาระเงินกู้เพิ่ม หรืออาจต้องเพิ่มทุน  

          บล.บัวหลวงฯคาดว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมของ BH ไม่ประสงค์จะขายหุ้นออกไปแน่ โดยมีไม้ตายในการต่อสู้คือ ใช้หุ้นบุริมสิทธิพร้อมแปลงเป็นหุ้นสามัญที่มีในมือประมาณ 20% ซึ่งราคาต่ำมากแค่ 4.55 บาท ในชุดที่ 1 และ 3.50 บาทในชุดที่ 2 ในการปกป้องการเข้ามาของ BDMS ในอนาคต

          เห็นรึยังครับ!