สร้างอาชีวะพันธุ์ดิจิทัล รองรับแรงงานอีอีซี

08 มี.ค. 2563 | 02:00 น.

ไมโครซอฟท์ จับมือ ดีป้า ยกระดับทักษะดิจิทัลบัณฑิตอาชีวะรุ่นใหม่ เปิดโครงการ “Advancing the Future of Work” ขับเคลื่อนตลาดงานอีอีซี มุ่งฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่บัณฑิตอาชีวะ 6,000 คน จาก 60 สถาบัน

 

นางสาวจิน ฮี เบ หัวฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไมโครซอฟท์ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกฯ เปิดเผยว่าหนึ่งในวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์คือ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างประโยชน์แก่คนทุกคน ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไมโครซอฟท์จึงร่วมมือกับพันธมิตร 5 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และ LinkedIn ประเทศไทย เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลAdvancing the Future of Work” เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการจ้างงานให้กับบัณฑิตอาชีวะรุ่นใหม่จำนวน 6,000 คน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ด้วยทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการของเหล่านายจ้าง ผ่านการฝึกอบรมอาจารย์จำนวน 120 คน จาก 60 สถาบันการศึกษา ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC)

โดยเนื้อหาการเรียนรู้ 2 หลักสูตร ได้แก่ การฝึกอบรมการวิเคราะห์ข้อมูล ระยะเวลา 3 วัน โดยเน้นสอนการใช้งาน Excel และ Power BI ขั้นสูง และการฝึกอบรมโค้ดดิ้งเพื่อสร้างแอพพลิเคชัน ระยะเวลา 2 วัน โดยเน้นสอนวิธีการใช้ HTML5 และ CSS

 

สร้างอาชีวะพันธุ์ดิจิทัล  รองรับแรงงานอีอีซี

จิน ฮี เบ

 

“AI เป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำมาซึ่งการเติบโตเชิงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากการเพิ่มผลิตผลในการดำเนินงานและรายได้โดยรวมของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการรายงานว่าองค์กรที่นำ AI มาปรับใช้ในเชิงรุกสามารถเพิ่มผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมจากทุกภาคอุตสาหกรรมถึง 15% ในขณะที่การนำ AI มาปรับใช้นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จากจำนวน 8% ของธุรกิจในปี 2560 สู่ 14% ในปี 2561 ไมโครซอฟท์จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตอาชีวะ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีความจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในอนาคต

 

จากผลการศึกษาระบุว่า ภายในปี 2571 มีภาคอุตสาหกรรมที่ถูกคาดการณ์ว่าจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี AI และการนำเครื่องจักรมาใช้แทนการทำงานของมนุษย์ (Automation) มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรรม (15%) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (12%) ภาคอุตสาหกรรมการค้าส่งและค้าปลีก (10%) ซึ่งสังเกตได้ว่าล้วนแต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในรูปแบบเป็นกิจวัตรและการทำงานแบบวนซํ้า

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563