พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ แก้ปัญหายางพาราได้จริงหรือ?

05 มี.ค. 2563 | 12:07 น.

พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ แก้ปัญหายางพาราได้จริงหรือ?

เมื่อวันพุธที่ 4 มีนาคม 2563 ผมได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในงานสัมมนาเรื่อง “พ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา : ใครได้ ใครเสีย” จัดโดยหน่วยวิจัยเศรษฐกิจยางพารา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร คุณอุทัย สอนหลักทรัพย์ คุณวรเทพ วงศาสุทธิกุลและผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราที่มีชื่อเสียงหลายท่าน

 

ก่อนอื่นต้องเล่าท่านผู้อ่านอย่างนี้เพื่อความเข้าใจครับว่า ปัจจุบันมีกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องกับยางพาราหลักๆ ทั้งหมด 3 ฉบับ คือ “พ.ร.บ.ควบคุมยาง” ปี พ.ศ. 2542 มีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานกำกับดูแล สาระสำคัญคือ “ต้องขออนุญาตและการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งหมด” เช่น การควบคุมการส่งออกและนำเข้าต้นยาง  ดอก เมล็ด หรือตา และยางเข้ามาในประเทศและส่งออก ใครค้ายาง ตั้งโรงทำยางต้องขออนุญาต ผู้ค้ายางต้องทำบัญชีจำหน่ายยาง ปริมาณยางของทุกเดือน (ตรงนี้มีเนื้อหาใกล้เคียงกับประกาศของคณะกรรมการกลางฯ)

 

 ในขณะที่ “พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย” เมื่อปี 2558 มีการยกเลิก 3 กฎหมายคือ พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พรฏ.จัดตั้งองค์การสวนยาง และประกาศคณะปฎิวัติ วัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราทั้งระบบ และรับผิดชอบกำกับดูแลทั้งอุตสาหกรรมยางพารา ส่วน ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเรื่อง “การแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้ายางพารา” “ต้องการให้สินค้ายางเป็นสินค้าควบคุม” ที่ผู้ประกอบการยางที่มีการซื้อยาง 5,000 กิโลกรัม(กก.)ต่อเดือนขึ้นไปต้องแจ้งปริมาณรับซื้อ ขาย ใช้ คงเหลือ

 

และล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะนำเสนอ “ร่างพ.ร.บ.การแบ่งปันผลประโยชน์ยางพาราพ.ศ...” (มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันผลประโยชน์ในสินค้ายางพารา ข้าว และมันสำปะหลังอีกด้วย)

 

 

พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ แก้ปัญหายางพาราได้จริงหรือ?

ผมมีข้อสังเกตคือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีองค์ประกอบโดยรวมเหมือนกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล “ร้อยเปอร์เซ็นต์” และมีข้อคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ดังนี้คือ 1.มีการแบ่งกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ  4 ประเภทคือ เกษตรกร สหกรณ์ โรงงานและผู้จัดจำหน่าย แต่มีบางมาตราก็กล่าวถึงครบทั้ง 4 และบางมาตราก็ไม่ครบทั้ง 4 กลุ่ม เช่นวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ให้กู้ยืมได้เฉพาะเกษตรกร โรงงานและผู้จัดจำหน่าย เป็นต้น (ขาดสหกรณ์) นอกจากนี้ในแต่ละกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง

 

2.คำจำกัดความ “เกษตรกร” ที่แตกต่างกันกับ พ.ร.บ. การยางแห่งประทศไทย(กยท.) เช่น “เกษตรกร” หมายถึงผู้ปลูกยางพาราเพื่อส่งให้แก่โรงงาน แตกต่างจากคำว่า “เกษตรกรชาวสวนยาง” ของ กยท. ตรงนี้น่าจะปรับให้เหมือนกันหรือสอดคล้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า “เกษตรกรยางพาราไทยคือใคร” 3.อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา มีทั้งหมด 26 ข้อ ซึ่งค่อนข้างละเอียดส่วนใหญ่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์

พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ แก้ปัญหายางพาราได้จริงหรือ?

ผมคิดว่ามาตรานี้เป็นการจัดระเบียบยางพาราไทยทั้งระบบ เช่น วางแผนการปลูก ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและสหกรณ์ กำหนดปริมาณยางพาราที่ผลิตต้องสอดคล้องกับพื้นที่ปลูก (ตรงนี้อาจจะมีการขโมยยางพารามาขายหรือไม่ กรณีนี้มาเลเซียแก้โดยการใช้บัตรเกษตรกรเป็นตัวคุม) การคำนวณต้นทุน กำหนดอัตราส่วนผลตอบแทนระหว่างเกษตรกร สหกรณ์ โรงงานและผู้จำหน่าย แต่ผมกังวลว่าบางข้ออาจจะไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่เค้าดำเนินการอยู่แล้วหรือไม่ เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร และที่ยังไม่มีคือ “ขาดการกำหนดผลพลอยได้ทั้งอุตสาหกรรมยางได้ว่าครอบคลุมอะไรบ้าง” และที่ขาดอีกอย่างคือ “การตรวจความถูกต้องของข้อมูลยางพาราของประเทศไทย” ซึ่งปัจจุบันข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน

 

 

พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ แก้ปัญหายางพาราได้จริงหรือ?

4.กองทุนแบ่งปันผลประโยชน์ มี 2 ประเด็นคือ 1.หน้าที่กองทุนคือ การศึกษาและวิจัย รักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมยางพารา รักษาเสถียรภาพด้านราคา กองทุนกู้ยืมแก่เกษตร  โรงงานและผู้จัดจำหน่าย และคุ้มครองผลกำไรของเกษตรกร ซึ่งคำว่า “เสถียรภาพราคาและอุตสาหกรรมคืออะไร” 2.ที่มาของรายได้มาจาก 9 แหล่งรายได้ซึ่งต่างจาก กยท.ที่มาจาก 3 แหล่ง คือกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เงิน “CESS” (เก็บจากผู้ส่งออก 2 บาทต่อ กก.) และดอกผลของกองทุน ร่าง พ.ร.บ.นี้ เกษตรกรต้องจ่ายเงินให้เข้ากองทุนด้วยหรือไม่? 5.ความสัมพันธ์ระหว่าง “เกษตรกรกับสหกรณ์” และ “โรงงานกับผู้จำหน่าย” ร่าง พ.ร.บ.นี้ให้เกษตรกรขายยางให้กับสหกรณ์และสหกรณ์ขายต่อให้กับโรงงาน (แต่คำว่า ”เกษตรกร” ตามร่าง พ.ร.บ.ต้องขายยางให้โรงงานเท่านั้น) ซึ่งเจตนารมณ์อาจจะทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันศักยภาพของสหกรณ์พร้อมสำหรับเรื่องนี้หรือยัง และอาจจะเป็นการจำกัดสิทธิในการขายยางของเกษตรกรหรือไม่

 6.ความกังวลคือหากไทยกำหนดให้ราคายางประเทศสูง ผู้ประกอบการแปรรูปยางจะหันไปซื้อยางจากประเทศเพื่อนบ้านแทน (จากคุณวรเทพ) 7.สุดท้ายคือต้องศึกษาวิเคราะห์วิจัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีความซ้ำซ้อนในหน้าที่และบทบาทกับหน่วยงานที่รับผิดชอบยางอยู่แล้วอย่างไรบ้าง จะต้องยกเลิกมาตราไหน หรือต้องยกเลิกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราหรือไม่? ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร สรุปโดยรวมผู้นำเสนอมีความตั้งใจและปรารถนาดีที่จะแก้ปัญหายางพาราของไทยที่ยังหาทางออกไม่ได้มานานแสนนาน แต่ต้องดูกันต่อไปว่า หากเราได้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มาจริงแล้ว “สามารถแก้ปัญหายางพาราของไทยได้แค่ไหน หรือแก้ไขได้จริงหรือไม่” ครับ