ทั่วโลกทุ่มงบสู้ไวรัส IMF ชง 1.5 ล้านล้าน ให้กู้ปลอดดอกเบี้ย

05 มี.ค. 2563 | 09:33 น.

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศตั้งงบช่วยเหลือวงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.55 ล้านล้านบาท สำหรับให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำทั่วโลกซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” สามารถขอกู้โดยปราศจากดอกเบี้ย เพื่อนำไปใช้ต่อสู้กับภาวะวิกฤติดังกล่าว 

 

เล็งปล่อยกู้ประเทศยากจน ไม่คิดดอกเบี้ย  

นางคริสตาลินา จอร์จิวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ เปิดเผยเมื่อกลางสัปดาห์นี้ (4 มี.ค.)ว่า ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือและเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ สามารถยื่นขอกู้ได้ทันที โดยส่วนใหญ่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟจะพิจารณาเป็นรายประเทศไปว่ามีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินมากน้อยเพียงใด แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆต้องยื่นขอมา โครงการนี้แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ยืนยันว่าจะดำเนินการให้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นของประเทศสมาชิก ไอเอ็มเอฟคาดหวังให้ประเทศที่ยื่นขอความช่วยเหลือ นำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนายกระดับบริการด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยนำไปใช้ในโครงการกระตุ้นระบบการเงินการคลังของประเทศ และการเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังประสานงานไปยังธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เพื่อร่วมกันจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น อาทิ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ช่วยหายใจ สำหรับประเทศที่มีความต้องการ
คริสตาลินา จอร์จิวา

 

เวิลด์แบงก์อนุมัติงบเกือบ 4 แสนล้านบรรเทาผลกระทบ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกมากกว่า 90,000 คน ใน 6 ทวีป ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ธนาคารโลกก็ได้ประกาศแผนช่วยเหลือประเทศยากจนในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวเช่นกัน โดยตั้งงบไว้ 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 372,000 ล้านบาท

 

ผู้บริหารของไอเอ็มเอฟระบุว่า หากการแพร่ระบาดทวีความรุนแรง ก็ถึงเวลาที่นานาประเทศควรต้องมีมาตรการเชิงป้องกันให้มากขึ้น รวมทั้งมาตรการประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และจัดทำแผนการเงินกรณีต้องจ่ายเงินให้กับพนักงานที่จำเป็นต้องหยุดงานหรือทำงานอยู่กับบ้าน  

 

“เรากำลังพบกับอุปสงค์ที่อ่อนแรงถ้วนหน้าซึ่งเป็นบรรยากาศโดยทั่วไป แทรกซอนให้เห็นในทุกๆช่องทางที่ผลกระทบแผ่ไปถึง รวมทั้งการค้า การท่องเที่ยว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น และความไม่มั่นใจของผู้คน” ผู้บริหารสูงสุดของไอเอ็มเอฟให้ความเห็น และว่ารัฐบาลนานาประเทศจำเป็นต้องมีนโยบายเพิ่มเติมออกมาเพื่อช่วยให้อุปสงค์แข็งแรงขึ้น รวมทั้งมาตรการที่จะสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบการจะมีแหล่งขอสินเชื่อที่เพียงพอ     

 

การประกาศวงเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาต่อสู้ผลกระทบของไวรัสโคโรนาโดยไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันของธนาคารกลางในหลายประเทศ ที่นำมาตรการด้านดอกเบี้ยมาเป็นเครื่องมือในการประคองเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาในช่วงไม่กี่วันนี้

ทั่วโลกทุ่มงบสู้ไวรัส IMF ชง 1.5 ล้านล้าน ให้กู้ปลอดดอกเบี้ย

 

สหรัฐฯอัดฉีดงบกว่า 2 แสนล้านสู้ไวรัส  

และล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา หรือสภาล่าง ได้อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณ 8,300 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 257,300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2563 เพื่อใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเพื่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 415 ต่อ 2 เสียงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังการพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก ร่างกฎหมายดังกล่าวรอการพิจารณาของวุฒิสภา หรือ สภาสูง ในวันนี้ (5 มี.ค.) เพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามเป็นลำดับต่อไป  

นางแนนซี่ เปโลซี ประธานสภาผู้แทนฯสหรัฐ

สื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯฯระบุว่า ในจำนวนเงินงบประมาณที่นำเสนอนี้ กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์จะนำไปใช้ในการพัฒนาวัคซีน ยา และวิธีการบำบัดรักษา ขณะที่ 2,200 ล้านดอลลาร์จะนำไปใช้ผ่านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซีพี) เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานสาธารณสุขทั้งระดับประเทศ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น ครอบคลุมถึงการทดลองในห้องแล็บและการควบคุมโรค ที่สำคัญคือ มีการเสนอจัดสรรวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินอุดหนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก สามารถมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปใช้รับมือผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว โดยสรุปแล้ว 85% ของงบประมาณ 8,300 ล้านดอลลาร์จะใช้ภายในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีงบส่วนหนึ่งคือราวๆ  1,250 ล้านดอลลาร์ฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะนำไปช่วยบรรเทาผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเป็นค่าใช้จ่ายในการอพยพผู้คน เป็นต้น