ท่องเที่ยว รอเก้อ ถก‘พิพัฒน์’  ทวงแผนอุ้ม

04 มี.ค. 2563 | 07:00 น.

วงการท่องเที่ยว บุกพบ “รมว.พิพัฒน์” ทวง ถามมาตรการอุ้มธุรกิจ-แรงงาน หลังรอเก้อท้ายสุดยังไม่เข้าครม. จี้รัฐเร่งเสริมสภาพคล่องด่วน ต่อลมหายใจ ด้านพาณิชย์งัดแผน 2 ตั้งศูนย์คุมผลิต-กระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึง

 

 

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันที่ 4 มีนาคม 2563 สทท.พร้อมด้วยนายกสมาคมท่องเที่ยวต่างๆ

อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า), สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ), สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ) มีกำหนดจะเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทวงถามถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยว 

ท่องเที่ยว  รอเก้อ  ถก‘พิพัฒน์’   ทวงแผนอุ้ม

หลังจากข้อเสนอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาวะวิกฤติไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ได้หารือร่วมกับเอกชนก่อนหน้านี้ ซึ่งมี 5 มาตรการ ได้แก่ การเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ, การช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ, มาตรการภาษีเพื่อพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาการจ้าง งาน และโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน ยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในครม.เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ทั้งๆ ที่เอกชนรอกันมาพักใหญ่แล้ว

เอกชนจึงต้องการขอความชัดเจน พร้อมร้องขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวระดับเอสเอ็มอีกว่า 6 หมื่นราย กำลังจะไปต่อไม่ไหวแล้ว สิ่งที่จะเป็นออกซิเจนที่จะเข้ามาช่วยต่อลมหายใจได้บ้าง คือ เอกชนจะขอให้รัฐบาลออกมาตรการให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไป 1 ปี

ที่ผ่านมาสถาบันการเงินยอมจะให้พักชำระหนี้เงินต้นได้ แต่ดอกเบี้ยยังต้องจ่ายอยู่ ซึ่งท่ามกลางสภาพคล่องที่หดหายกับค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายอยู่ทุกเดือน ธุรกิจเอสเอ็มอีคงจ่ายดอกเบี้ยไม่ไหว กลายเป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลตามมา ทั้งจะกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าหากไม่สามารถพักชำระค่าดอกเบี้ยได้จริงๆ ก็อยากขอให้รัฐบาลสนับสนุนแหล่งเงินสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า ในวงเงินใหม่ ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 1% ให้เอกชนได้กู้เพื่อมาจ่ายดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินต่างๆ

ท่องเที่ยว  รอเก้อ  ถก‘พิพัฒน์’   ทวงแผนอุ้ม

“ซอฟต์โลนเป็นสิ่งที่เอกชนต้องการที่สุดในตอนนี้ และอยากให้ออกมาโดยเร็ว ไม่ใช่ออกมาตอนที่เอกชนทยอยตายไปแล้ว ส่วนมาตรการเรื่องอื่นๆ อย่างลดภาษี หรือกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ธุรกิจยังพอรอไหว เพราะการกระตุ้นถ้านักท่องเที่ยวมั่นใจก็จะฟื้นมาเอง” นายชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ครม.ยังมีมติขอความร่วมมือให้ส่วนราชการและเอกชนยกเลิกจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวเป็นจำนวนมาก อาทิ การแข่งขันกีฬา, คอนเสิร์ต ส่วนมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นำเสนอครม.เศรษฐกิจโดยเร็วก่อนนำเสนอครม.ต่อไป

ล่าสุดการจัดงานหลายงานยังทยอยประกาศเลื่อนออกไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41, การแข่งขันโมโต จีพี, การจัดงานไทยแลนด์ ฟู้ด ทรัค, งานมันนี่ เอ็กซ์โป 

ส่วนประเด็นหน้ากากอนามัยขาดแคลน หาซื้อยาก และมีราคาแพง รวมถึงปัญหาหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลเอกชนที่ขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤตินั้น นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า เพื่อให้การบริการจัดการหน้ากากอนามัยเป็นไปอย่างทั่วถึง และกระจายลงไปยังทุกภาคส่วน ทางกรมได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยขึ้น มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน โดยอยู่ระหว่างรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เซ็นคำสั่งตั้งศูนย์ ซึ่งจะมีตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐในทุกสังกัด จากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ท่องเที่ยว  รอเก้อ  ถก‘พิพัฒน์’   ทวงแผนอุ้ม

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติหลังจากจัดตั้งศูนย์แล้วจะมีเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในไปประจำที่โรงงานผลิตทั้ง 11 โรงงาน เพื่อรับทราบข้อมูลว่าแต่ละโรงงานผลิตได้เท่าไรต่อวัน มีคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) ทั้งระบบในแต่ละวันจากที่ใดบ้าง ซึ่งทางศูนย์จะเป็นผู้รับออร์เดอร์ และจัดสรรกระจายสินค้าให้ทั่วถึง ซึ่งจะมีการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่ว่าถึงมือจริงหรือไม่ เมื่อปลายทางรับสินค้าแล้วก็จะมาทบทวนข้อมูลในแต่ละวัน เพื่อจัดสรรในวันต่อ ๆ ไป

“ปัจจุบันโรงงานมีกำลังผลิตหน้ากากอนามัยรวมกัน 35-36 ล้านชิ้นต่อเดือน ถ้าผลิต 24 ชั่วโมงทุกวันจะได้ 38 ล้านชิ้นต่อเดือน เพียงพอกับความต้องการมาใช้ หากไม่มีการกักตุน ซึ่งพวกที่โพสต์ขายหน้ากากอนามัยทางเฟซบุ๊กที่ขายเกินราคา เราก็ไปไล่จับทุกวัน”

อย่างไรก็ดี จากการสอบถามไปยังสมาคมร้านขายยา ซึ่งมีสมาชิกเป็นร้านขายยากว่า 3 พันรายและได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อขอให้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับสมาคม หลังจากที่พบปัญหาสินค้าขาดแคลนไม่มีจำหน่ายนั้น ทางสมาคมยังยืนยันว่า แม้กระทรวงพาณิชย์จะแจ้งว่าได้จัดส่งสินค้าให้กับสมาคมเพื่อนำไปให้สมาชิกจำหน่ายนั้น แท้จริงแล้วยังไม่เคยได้รับสินค้าแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องขอไปจำนวน 2.5 แสนชิ้นต่อวัน แต่กรมการค้าภายในแจ้งว่า จะจัดส่งให้ 2.5 หมื่นชิ้นต่อวัน แต่กลับไม่เคยได้รับสินค้าเลย

“สมาคมร้านขายยาขาดแคลนหน้ากากอนามัยราว 2-3 สัปดาห์แล้วเบื้องต้นพบว่ากรมการค้าภายในจัดส่งให้ร้านธงฟ้า ร้านสะดวกซื้อ ก่อน ตามด้วยร้านขายยา แต่แท้จริงแล้วสมาคมร้านขายยา ยังไม่เคยได้รับสินค้าแต่อย่างใด”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563