4กลยุทธ์ ฝ่าวิกฤติ เดินหน้าประเทศรับโลกเปลี่ยน

05 มี.ค. 2563 | 08:05 น.

"สนธิรัตน์” ชี้วิกฤติโลกครั้งนี้เขย่าทั้งบนจนลึกถึงราก ประกาศลั่นเวที “40 ปีฐาน” ชูกลยุทธ์ 4Ts สู้กระแสโลกพลิกผัน ใช้ดิจิทัลผนึกจุดแข็งไทยปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างถูกทาง-ทันโลก เดินหน้านโยบายพลังงานเสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก

 

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Thailand Forward: ไทยกับการเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคใหม่” ในงานเลี้ยงฉลองก้าวสู่ปีที่ 40 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์  แอท  เซ็นทรัล เวิลด์ ว่า ไม่ง่ายที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ทุกวันนี้ ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที จากยุคโลกไร้พรมแดน(Globalisation) ถึงเทคโนโลยีไล่ล่า(Disruption) หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันที จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างกระแสความเปลี่ยนแปลงทุกด้านอย่างรวดเร็ว

4กลยุทธ์ ฝ่าวิกฤติ  เดินหน้าประเทศรับโลกเปลี่ยน

เทคโนโลยีทะลุทะลวง

รัฐมนตรีพลังงานกล่าวอีกว่า โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนเร็วมากนี้ การวางยุทธศาสตร์รับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ต้องมองไปข้างหน้า โดยเฉพาะใน 4 เรื่อง (4Ts)  ได้แก่

1. Breaktrough Technology หัวใจสำคัญคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ ไทยเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี 5G ที่จะเป็นตัวพลิกโฉมเศรษฐกิจด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรม ยกระดับเกษตรเป็น Smart Farming ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ เป็น Smart SMEs เปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่โลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโลกเสมือน AI IoT โดยอุตสาหกรรมใหญ่เราต้องขยับขึ้นไปแข่งระดับโลก เป็นการโอบอุ้มผู้ประกอบการส่วนบนไปพร้อมกับดูแลคนตัวเล็กข้างล่าง ให้มีศักยภาพสร้าง Value Chain ของการแข่งขันไปด้วยกัน

แม้แต่กระทรวงพลังงานก็หนีเรื่องนี้ไม่พ้น จากเดิมรัฐเป็นผู้ผลิตและขาย เวลานี้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกที ต้นทุนพลังงานทดแทนถูกลงเรื่อยๆ  โซลาร์เซลล์จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างสำคัญ เมื่อทุกบ้านติดโซลาร์รูฟท็อป และกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ เกิดการ Decentralisation นำไปสู่การซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างกันภายในชุมชน (Peer to Peer) ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก”

 

ปรับตัวทันโลกเปลี่ยน

ประการที่ 2 Ahead of Time คือ การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะรูปแบบเดิมแข่งขันยาก ขณะเดียวกันภูมิทัศน์ของการแข่งขันก็เปลี่ยนไป ขณะที่ไทยอยู่ในจุดศูนย์กลาง เอื้อต่อการเป็น New Change ของหลายประเทศ จึงต้องผลักดันนโยบาย “เชื่อมโยง-Connectivity” ในการเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมขนส่งเชื่อมอาเซียน  เชื่อมโยงกับผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้มแข็งในเวทีโลก เช่น อินเดีย รัสเซีย บราซิล ที่ถือเป็น The Next Game Changer ควบคู่กับปรับธุรกิจที่ค้าผ่านหน้าร้าน ให้เพิ่มการค้าออนไลน์ที่เปิดออกสู่ตลาดทั้งโลกได้ ยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ที่คนไม่กล้าออกที่ชุมชน ยิ่งเป็นโอกาสของการค้าออนไลน์

4กลยุทธ์ ฝ่าวิกฤติ  เดินหน้าประเทศรับโลกเปลี่ยน

ผนึกจุดแข็งถูกทิศ

นายสนธิรัตน์ชี้ต่อว่า ประการที่ 3  Be on the right Track ทำอย่างไรจะเพิ่มขีดความสามารถ
และนำจุดแข็งของไทยบูรณาการกับเทคโนโลยี ซึ่งในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับที่ดี เห็นได้จากถ้าสามารถนำจุดแข็งของประเทศ เช่น ภาคเกษตร ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ใช้บูรณาการร่วมกับความสามารถด้านเทคโนโลยี สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ การจะใช้ความหลากหลายของวัฒนธรรม และใช้ศักยภาพของคนให้อยู่บน The right track โดยภาครัฐและเอกชนต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

การสร้างความสามารถในการแข่งขัน เริ่มจากเปลี่ยนเป็นเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นพื้นฐาน ก่อนขยายสู่ภาคอื่นๆ โดยในภาคพลังงานสามารถเข้าต่อเชื่อม ซึ่งต้องใช้อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปาล์มนํ้ามัน มีสัดส่วนเพียง 5% แต่ถือเป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจหลัก ต้องสร้างจุดแข็งสู่การเป็นพืชพลังงาน โดยประกาศให้บี 7 เป็นนํ้ามันดีเซลมาตรฐาน เพื่อแก้ปัญหาปาล์มนํ้ามัน ทำให้ภาคเกษตรสามารถแข่งขันได้ และรักษาเสถียรภาพปาล์มให้ยั่งยืน เป็นต้น


4กลยุทธ์ ฝ่าวิกฤติ  เดินหน้าประเทศรับโลกเปลี่ยน

SDGs กติกาที่ปฏิเสธไม่ได้

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ประการที่ 4 Towards Sustainability มุ่งความยั่งยืน  เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs-Sustainable Development Goals) กลายเป็นกรอบกติกาของโลก  การส่งออกถ้าขัดกับ SDGs จะไม่ได้รับการยอมรับจากคู่ค้าในโลก ไทยเองก็ต้องปรับตัว แม้กระทั่งนโยบายด้านพลังงานที่กำลังถูกเร่งรัดสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  วิกฤติครั้งนี้หาใช่กระทบเฉพาะระดับข้างบน แต่กำลังลงลึกถึงข้างล่าง ดังนั้นการจะอุ้มเศรษฐกิจฐานรากทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพราะเศรษฐกิจชุมชนคือหัวใจการขับเคลื่อนที่จะทำให้อยู่รอด กระทรวงพลังงานกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก อาทิ เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมั่นใจใน 2 ปีปาล์มนํ้ามันจะมีราคาที่ดีอุ้มเศรษฐกิจฐานรากได้ และจะประกาศใช้ E20 ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อดึงราคามันสำปะหลังต่อ ถ้าเดินหน้าได้ดีจะมีผลต่ออ้อยด้วย ตามนโยบายนำใบอ้อยแก้ปัญหาไฟฟ้า เรื่องการใช้พืชพลังงานแก้ปัญหาพื้นที่ภัยแล้งที่กำลังจะทดแทนพืชอื่นๆ และโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นต้น

รัฐมนตรีพลังงานยํ้าในตอนท้าย ให้ใช้กลไกบูรณาการโดยเฉพาะภาครัฐมองไปข้างหน้า และอาศัยช่องทางเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่พร้อมกัน โดยอุ้มแต่ละ Sector ที่มีความแตกต่างกัน ที่จะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าบนโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดทาง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563