BDMS ซื้อหุ้น บำรุงราษฎร์ ผูกขาดธุรกิจโรงพยาบาล?

04 มี.ค. 2563 | 07:10 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3554 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค.63 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

          ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในการบริการที่ช่วยชีวิตผู้คนให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บและดูแลให้คนมีสุขภาพที่แข็งแรง มีสุขอนามัยที่ดี 
          ประเทศไทยน่าจะเป็นหนึ่งในหลายประเทศในโลกที่เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจด้านสถานพยาบาลเอกชนอย่างเสรี เพื่อทดแทนการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศที่รัฐบาลมีงบประมาณในการดูแลจำกัด
          ในระยะที่ผ่านมาจะเห็นสถานพยาบาลเอกชนเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากการบริการสาธารณสุขของภาครัฐที่มีขีดจำกัดในเรื่องงบประมาณ ความรวดแร็ว และจำนวนผู้ป่วยที่รอคิวจำนวนมาก
          ไม่เพียงแต่รัฐเปิดกว้างด้านการให้บริการ แต่รัฐกลับเปิดกว้างในเรื่องของการกำหนดราคาค่าบริหาร ค่าหมอ ค่ายา
          จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่เปิดเสรีด้านสถานพยาบาลเอกชน จะพบว่าอัตราผลตอบแทนของธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด สถานพยาบาลขยายตัวไปในแทบทุกพื้นที่
          เพิ่งไม่นานนี้ที่มีการกวดขันในการกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ที่มีการให้เปิดเผยและมีราคาชี้นำจากภาครัฐ
          ข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการเปิดทางให้สถานพยาบาลเอกชน โขกราคากับผู้มารักษาพยาบาลหากินบนความทุกข์เข็ญของผู้คน ในขณะที่ผู้ประกอบการมีแต่รวยขึ้น เพราะไม่เคยมีผู้ป่วยคนใดต่อราคาค่ารักษาพยาบาลจากหมอ ยิ่งขยายวงกว้างขึ้น
          วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นวันประวัติศาสตร์ เมื่อกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามประกาศ กกร. ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาล 
          หากไม่แจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง

          แม้จะมีการคุมแบบนี้ แต่เชื่อหรือไม่โรงพยาบาล 363 ราย แจ้งข้อมูลแค่ 312 ราย ไม่แจ้งข้อมูล 37 ราย และแจ้งข้อมูลไม่ครบถ้วน 14 ราย ผู้ผลิตยา 345 ราย แจ้งข้อมูลแล้ว 240 ราย ไม่แจ้งข้อมูล 81 ราย และ 19 รายไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากไม่มีการจำหน่ายยาให้โรงพยาบาลเอกชน อีก 5 รายติดต่อไม่ได้
          พอเกิดปรากฏการณ์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) จะเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) ในหุ้นทั้งหมดของ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH) จากที่ถือหุ้นอยู่ 24.9% ในราคา 125 บาท/หุ้นหรือเพิ่มขึ้นได้ 20%  ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าเข้าข่ายการผูกขาดหรือไม่
          เพราะในปัจจุบันกลุ่ม BDMS ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มีกิจการสถานพยาบาลครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ และมีสัดส่วนทางการตลาดทั้งสถานพยาบาลยาเวชภัณฑ์กว่า 50% เข้าไปแล้ว
          กลุ่ม BDMS มีโรงพยาบาลมากถึง 50 แห่งที่ให้บริการ และเตียงกว่า 8,015 เตียง  มีขนาดสินทรัพย์สูงถึง 4 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว กำไรทะยานขึ้นจากระดับ 8,900 ล้านบาทมาเป็น 15,500 ล้านบาทเข้าไปแล้ว
          กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีโรงพยาบาลในเครือเกือบ 10 แห่งทั่วประเทศ ที่รู้จักกันดี เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช 3 โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล รวมทั้งการขยายเปิดโรงพยาบาลในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจอุปกรณ์และธุรกิจด้านการแพทย์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ครอบคลุมธุรกิจการแพทย์อย่างครบวงจร
          ขณะที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีขนาดเตียง 580 เตียง สามารถรักษาพยาบาลผู้คนได้วันละ 5,500 คน ในแต่ละปีมียอดผู้ป่วยมารักษาพยาบาล 1.1 ล้านคน เป็นคนต่างชาติประมาณ 6.29 แสนคน กำไรปีที่แล้ว 3,748 ล้านบาท

          นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) โฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ออกมาบอกว่า กรณี BDMS จะเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ในหุ้นทั้งหมดของ BH จะต้องขออนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดเป็นลำดับต้นของประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้จำนวนผู้แข่งขันและสภาพการแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังจะต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและผู้บริโภคว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดอีกด้วย
          เพราะตามหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีเจตนารมณ์ที่จะมุ่งให้ตลาดมีการแข่งขันมากที่สุด โดยการแข่งขันนั้นจะต้องมีความเป็นธรรมควบคู่กันไปด้วย ในอีกด้านหนึ่งก็จะต้องปกป้องตลาดไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งเข้าไปผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขัน หรือทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
          การรวมธุรกิจ มีการกำหนดไว้ชัดเจนใน 2 กรณีคือ  กรณีที่ 1 หากรวมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด (ส่วนแบ่งตลาด 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้จะต้องดำเนินการขออนุญาต และได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อน จึงจะสามารถทำการรวมธุรกิจได้
          กรณีที่ 2 หากรวมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง (ส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า 50% และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้  จะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจกับ กขค. ภายในระยะเวลา 7 วัน นับจากวันที่รวมธุรกิจเสร็จสิ้น
          หากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ
          การให้บริการอย่างทั่วถึง การปรับปรุงการบริการที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม เป็นเรื่องสำคัญ แต่การผูกขาดในกิจการด้านการแพทย์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยรายใหญ่ที่มีกำลังมากเพียงรายเดียวนั้นถือว่าจะเป็นอันตรายต่อระบบการรักษาพยาบาลในอนาคตอย่างแน่นอน
          เพราะออกเสียงหาความเห็นที่ดีที่สุดในการดูแลผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปอย่างไร กลุ่มที่ควบคุมตลาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ย่อมมีเสียงไปทางเดียวกัน ทุกอย่างก็บรรลัยลูกเดียว
          ไม่เชื่อโปรดติดตามกันดู!