ภัยแล้ง ปัญหาสำคัญ  ของการเติบโตเศรษฐกิจภูมิภาค

04 มี.ค. 2563 | 02:24 น.

ภาวะภัยแล้ง เป็นปัญหาที่เกษตรกรไทยเผชิญมาตลอด จากสถิติพบว่า ช่วง 13 ปีที่ผ่านมา เกิดมีปริมาณนํ้าฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 5 ปี เช่นเดียวกับปีนี้ จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ทำให้ภัยแล้งยาวนานออกไป ปริมาณนํ้าที่สามารถใช้ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลดลงจากปีก่อนถึง 61.9% เหลือเพียง 2,765 ล้าน ลบ.. ลดลงจากระดับ 7,256.4 ลบ..ในปีก่อน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบว่า ผลกระทบจากภัยแล้งปีนี้ จะมีมูลค่าถึง 6.6 หมื่นล้านบาท โดยพื้นที่ที่ถูกกระทบมากสุดเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.49 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือภาคเหนือ และภาคกลาง 2.38 และ 2.34 หมื่นล้านบาทตามลำดับ มีเพียงภาคใต้ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 5.93 พันล้านบาท จากปาล์มที่มีราคาดีขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่พืชที่มีผลกระทบหลักๆ คือ ข้าว ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง

1.ข้าว ปริมาณนํ้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้ชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ โดยภาคเหนือมีปริมาณผลผลิตลดลงมากสุด 2.67 ล้านตัน มูลค่า 2.04 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ภาคกลางได้รับผลกระทบเป็นอันดับ 2 คือ ผลผลิตลดลง 2.64 ล้านตัน มูลค่า 2.01 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงคือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท

2.ยางพารา คาดว่า ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบเฉลี่ยปี 2563 จะอยู่ที่ 38.4 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 10.28% ทำให้มูลค่าผลผลิตยางลดลง 1.19 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงคือ สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

3.อ้อย คาดว่า ปริมาณผลผลิตจะลดลง 22.6% ขณะที่ราคาอ้อยแม้จะเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยปีก่อนที่ 597 บาท/ตัน เป็น 676 บาท/ตัน แต่ยังถือว่าทรงตัวอยู่ในระดับตํ่ากว่าราคาทุน ทำให้รายได้จากอ้อยลดลง12.4% พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุดรธานี

ภัยแล้ง ปัญหาสำคัญ  ของการเติบโตเศรษฐกิจภูมิภาค

4.มันสำปะหลัง เป็นปีที่ราคาชะลอต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าราคามันสดเฉลี่ยทั้งปีจะชะลอตัวลง 5.6% จากความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีนลดลง ทำให้มูลค่าผลผลิตมันสดที่เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังขายได้ลดลงถึง 7 พันล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงคือ นครราชสีมา กำแพงเพชร และชัยภูมิ

จากภาพรวมของผลผลิตการเกษตรที่ถูกกระทบจากภัยแล้ง 6.6 หมื่นล้านบาท จะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจการค้าแล้วหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสินค้าคงทนจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก คือ ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง สินค้าแฟชั่น ฯลฯ ส่วนธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าจำเป็นได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะเป็นสินค้าจำเป็นและราคาไม่สูงนัก นอกจากนั้นการที่เกษตรกรเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงทำให้ธุรกิจปุ๋ย เคมีภัณฑ์การเกษตร อุปกรณ์และเครื่องจักรกลเกษตร โรงสีข้าว บริการทางการเกษตร มีรายได้ลดลงเช่นกัน

ภาคเกษตรเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจภูมิภาค เม็ดเงินรายได้และค่าใช้จ่ายที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง ย่อมมีผลต่อภาคเศรษฐกิจของพื้นที่จนกระทั่งไปสู่ระดับประเทศ  ดังนั้น การบริหารจัดการเพาะปลูกเกษตรอย่างเป็นระบบและภายใต้สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจึงมีความจำเป็น เช่น ปรับโครงสร้างพืชเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น ลดปริมาณการใช้นํ้าในภาคเกษตร การปลูกพืชที่ใช้นํ้าน้อย พืชตระกูลถั่ว ทั้งถั่วเขียว ถั่วลิสงและพืชสำหรับทำปุ๋ยพืชสด จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุน เพราะพืชเหล่านี้ยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

นอกจากนั้น ควรมีนโยบายดูแลราคาข้าว อ้อย มันสำปะหลังระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนปาล์ม แม้ราคาค่อนข้างดี แต่เป็นระยะสั้น จึงควรส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ และช่วยหนุนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตได้ในระยะยาว

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563