ทุนใหญ่(ยัง) ‘รุก’ รายเล็ก‘เหนื่อย’

07 มี.ค. 2563 | 01:30 น.

รายงาน

แม้สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่สดใส จากภาวะเศรษฐกิจซบ ทั้งไวรัสมรณะ โควิด-19 แพร่ระบาดไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก ยิ่งซํ้าเติมบรรยากาศการลงทุนและการซื้ออสังหาฯซบเซาหนักขึ้น ทุกบริษัทผ่อนคันเร่ง แต่ในเมื่อธุรกิจต้องเดินหน้า พบว่าช่วงนี้ยังมีการประกาศเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง จากผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนหนา

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เดินหน้ารุกตลาดต่อเนื่อง กลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของกิจการหรือธุรกิจอื่นที่เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อ 4-5 ปีก่อน อาทิ ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมี กลุ่มทีซีซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีเครือข่ายหลายบริษัท อาทิ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น และ เฟรเซอร์ส ประเทศไทย อีกราย สิงห์ เอสเตท ของกลุ่มบุญรอด บริวเวอรี่ นอกจากนี้ยังมีบริษัทรับเหมา บริษัทประกัน สนใจหันมาลงทุนพัฒนาโครงการอาคารชุด อาคารสำนักงาน

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งใน 5 ปีหลังนี้ หลายรายจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอสังหาฯยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพื่อขยายตลาดครบวงจรหวังสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

 

 

REIT จุดแข็งบิ๊กทุน

 นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด วิเคราะห์ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของโครงการทั้งแบบรวดเร็ว เช่น การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย และการลงทุนโครงการแบบเก็บรายได้ในระยะยาวจากค่าเช่า เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม พื้นที่ค้าปลีก ดังนั้น เจ้าของกิจการหรือเจ้าของธุรกิจรูปแบบ อื่นๆ ต่างพยายามเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือขยายการลงทุนเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบเก็บรายได้จากค่าเช่าในระยะยาวยังเป็นเพิ่มทรัพย์สินให้กับเจ้าของโครงการหรือนักลงทุนอีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบันยังมี REIT เป็นเครื่องมือสำคัญที่เป็นทางออกให้กับนักลงทุนในการได้เงินลงทุนกลับมาอีกด้วย

ทุนใหญ่(ยัง) ‘รุก’ รายเล็ก‘เหนื่อย’

ดังเช่นบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) จากเครือบุญรอด บริวเวอรี่ นับแต่เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ไล่ซื้ออาคารสำนักงาน โรงแรม และที่ดินต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอาคารสำนักงานมีการจัดตั้งกอง REIT ขึ้นมาเพื่อเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานที่พัฒนาขึ้นมาเอง อย่าง สิงห์ คอมเพล็กซ์ และที่ซื้อมาทั้ง ซันทาวเวอร์ส และล่าสุดเมโทรโพลิส โรงแรมอีกกว่า 40 แห่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

 ขณะที่กลุ่มทีซีซี มีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ ต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เป็นโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่ที่มีผลต่อที่ดินโดยรอบและใช้เงินลงทุนสูง เช่น สามย่านมิตรทาวน์ เดอะปาร์ค ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และโครงการขนาดใหญ่อย่าง วัน แบงค็อก แม้ว่าแต่ละโครงการจะใช้ชื่อบริษัทต่างกันในการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้กลุ่มทีซีซียังมีการลงทุนในต่างประเทศภายใต้กลุ่มเฟรเซอร์ และบีเจซี อีกหลายรูปแบบโครงการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

อีกกลุ่มที่ขยับทำธุรกิจรูปแบบอื่นๆ มากขึ้นคือ กลุ่มเซ็นทรัล ขยายการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้เน้นไปทางโครงการพื้นที่ค้าปลีก โรงแรม และอาคารสำนักงานบ้าง โดยการขยายธุรกิจมายังโครงการที่อยู่อาศัยก็เพื่อเพิ่มรายได้จากการขายที่อยู่อาศัย ซึ่งเร็วกว่าการหารายได้จากการปล่อยเช่าพื้นที่ และรายได้จากโรงแรม

กลุ่มเจ้าสัวต่างๆ ไม่เน้นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย เน้นการสร้างทรัพย์สินเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัท อีกทั้งยังมีแนวทางในการขายทรัพย์สินเข้ากอง REIT ดังนั้น อาคารสำนักงานจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ การลงทุนอีกรูปแบบคือ โรงแรม

 

 

ดีเวลอปเปอร์ไทยเหนื่อย            

ด้านตลาดที่อยู่อาศัย ผู้เชี่ยวชาญตลาดอสังหาฯ คาดการณ์ว่าในอนาคตจะเห็นการเปลี่ยน แปลงชัดเจน จากปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครองส่วนแบ่งการตลาด 60-70% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก จับมือร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่อสังหาฯ จากญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ด้านหนึ่งได้เงินทุนดอกเบี้ยตํ่ามาลงทุน อีกด้านได้ลูกค้าต่างชาติจากพันธมิตรด้วย อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของทุนต่างชาติ และทุนรายใหญ่จากธุรกิจ อาจทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่ของไทยวันนี้ ต้อง เหนื่อยมากยิ่งขึ้น อนาคตอาจกลายเป็นรายเล็ก จากแนวโน้มการไหลเข้ามาของทุนต่างชาติที่กำลังมีบทบาทกับตลาดอสังหาฯไทยอย่างมากในปัจจุบันนั่นเอง

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563