รัฐบาลขาลง แย่งชามข้าว

03 มี.ค. 2563 | 10:15 น.

คอลัมน์ที่นี่ไม่มีความลับ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3554 หน้า  12 ระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค.63 โดย...เอราวัณ

 

 

          แม้ว่าจะผ่านเสียงโหวตในสภา ตามญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรีด้วยคะแนนที่เหนือฝ่ายค้านไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลของ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถบริหารประเทศไปต่ออย่างสบายๆ ได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่า อยู่ในภาวะ “ขาลง” ความชอบธรรมที่สังคมส่วนรวมมอบให้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ มากกว่าคะแนนเสียงในสภา ที่นักการเมืองโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลต้องตระหนักและ “บริหารความชอบธรรม” ให้ดีมิฉะนั้นจะกลายเป็นการ “เร่ง” ภาวะขาลงให้เร็วขึ้น

          ที่บอกว่าเป็นภาวะ “ขาลง” นั้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ถูกซ้ำเติมด้วย “วิกฤติโคโรนา” หรือโควิท-19 ที่นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจดำดิ่งลงไป ยังเกิดวิกฤติความกลัว ที่ต้องบริหารใหม่ ไม่ใช่ปล่อยให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งบริหารจัดการทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ และโควิท-19 เนื่องจากเสนาบดีบางคนบริหารงานแบบ “เด็กอมมือ” เอาแต่เล่น FB - พูดจาจนหาความเชื่อมั่นไม่ได้ ทั้ง 2 เรื่องเป็นวิกฤติของชาติ ที่นายกรัฐมนตรีต้องเห็นว่านี่เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องบริหารแบบบูรณาการ ที่ต้องใช้คน “เก่ง-มากบารมี” มาบริหารจัดการ ถ้ามัวแต่คำนึงเพียงเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล ปล่อยให้ต่างคนต่างทำก็ “ไปไม่รอด”

 

 

          การลุกฮือของนักศึกษา ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน จะถูกจุดชนวนด้วยประเด็นการยุบพรรรอนาคตใหม่, การเบื่อทหารที่ครองอำนาจอยู่นานนับแต่รัฐประหารปี 2557, การไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หรือถูกเคลื่อน โดยประเด็นอื่นๆ ที่มาหลอมลวมกัน คนในรัฐบาลจะประมาทไม่ได้ จะมัวคิดแบบ “ทหารบางกลุ่ม” หรือฝ่ายเสธ.บางคน ที่ไปหยิบเอาบางประเด็นมาเป็นเรื่องใหญ่ เช่น อดีตหัวหน้า-กรรมการบริหารอนาคตใหม่บงการ หรือเสื้อแดงแปลงกาย เข้ามาแฝงในกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุม แล้วคิดว่าต้องเอาประเด็นนี้มาทำลายความเข้มแข็งของการชุมนุมไม่ได้ คิดแบบนี้ต้องบอกว่า “หลงยุค”

          ต้องคิดยอมรับความจริง ตั้งสติใหม่ มีความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลอยู่จริง หาวิธีการทำอย่างไร ที่จะดับความไม่พอใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นการหาช่องในการพูดคุย-การแก้ความไม่พอใจ มิใช่การคิดเอาชนะด้วยประเด็นปลีกย่อยที่ไม่ยอมรับความจริง เพราะการคิดแบบนั้นเข้าข่าย “สอบตกในการบริหารความชอบธรรมในช่วงขาลง”

          ซ้ำเติม “ภาวะขาลง” คือการเคลื่อนไหว “แย่งชามข้าว” ในการเรียกร้อง-วิ่งเต้นปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล ที่ “ไม่สำเหนียก” เลยว่ารัฐบาลอยู่ในภาวะขาลง แทนที่จะช่วยกันกอบกู้ภาวะวิกฤติ ด้วยการระดมสมองหาทางออกให้ประเทศชาติประชาชน แต่กำลังแสดงพลังต่อรอง “แย่งชามข้าว” เพื่อหวังเก้าอี้รัฐมนตรีแบบน่ารังเกียจที่สุด โดยเฉพาะพฤติกรรมของนักการเมือง เฉกเช่นที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มสามมิตร” เคยถามตัวเองมั้ยว่า รวมกลุ่มกันสร้างสรรค์อะไรให้ประเทศชาติบ้างมั้ย นอกจาก “สำรอกพลัง” จ่อรอเก้าอี้รัฐมนตรี หรือพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่แจก “กล้วย” กวาดต้อนส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่เข้า “คอก” เพื่อหวังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเช่นกัน... พฤติกรรม “แย่งชามข้าว” เหล่านี้ เขาเรียกว่า “วงจรอุบาทว์” ที่วนเวียนในการเมืองไทยไม่รู้จบ เพราะนักการเมืองไทยส่วนใหญ่คิดได้ไม่ไกลเกินกว่า “หัวแม่เท้าตัวเอง”