แบรนด์แฟชั่นโอด ต้นทุนผลิตในกัมพูชาพุ่ง

05 มี.ค. 2563 | 04:00 น.

กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร หรือ จีเอสพี (Generalized System of Preferences: GSP) แก่กัมพูชาเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะมีผลต่อสินค้าที่สหภาพยุโรป (อียู) นำเข้าจากกัมพูชาจำนวน 40 รายการ คิดเป็นมูลค่าเท่ากับประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดจากกัมพูชาไปยังอียู หรือประมาณ 1,100 ล้านยูโร (ราว 1,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 36,890 ล้านบาท) 

การสูญเสียสิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไปยังตลาดอียูในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายที่เข้าไปลงทุนผลิตสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าเดินทาง ในกัมพูชาเพื่อส่งออกไปยังตลาดอียู พิจารณาปรับแผนการลงทุนเพื่อการผลิตในประเทศดังกล่าว

การเคลื่อนไหวของอียูครั้งนี้เป็นผลมาจากการพิจารณาทบทวนคุณสมบัติของกัมพูชาในการใช้สิทธิส่งออกสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ มายังอียูโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งพบว่ากัมพูชามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมืองของฝั่งรัฐบาล และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งการละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ทำให้อียูไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องระงับการให้สิทธิพิเศษดังกล่าวแก่กัมพูชา ซึ่งหมายความว่านับตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศ

คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ สินค้าบางรายการจากกัมพูชาที่ส่งออกมายังอียู จะต้องถูกเก็บภาษีศุลกากร เช่น สินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อัตราภาษี 12% ส่วนรองเท้า อัตราภาษีสูงสุด 17% เป็นต้น นอกเสียจากว่าจะมีคำคัดค้านจากสภาบริหารและรัฐสภายุโรปภายในเวลา 2 เดือนหรือ 4 เดือน (หากมีการร้องขอให้ต่อเวลาการทัดทาน)

แนวโน้มต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้นนี้ ทำให้คาดว่าจะมีการปรับแผนการผลิตระลอกใหญ่โดยบริษัทนานาชาติที่เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกอยู่ในกัมพูชา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในกัมพูชา มีการจ้างงานโดยรวมภายในประเทศมากกว่า 750,000 คน และสร้างรายได้เข้าประเทศราว 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่ผ่านมา (2562) 

ยกตัวอย่าง เอชแอนด์เอ็ม (H&M) เจ้าของเชนร้านจำหน่ายเสื้อผ้าจากสวีเดน ที่มีโรงงานผลิตในกัมพูชา และจ้างงานแรงงานท้องถิ่นราว 77,000 คน ยอมรับว่ากำลังพิจารณาปรับแผนการผลิตจากกัมพูชาเสียใหม่ เพราะการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีจะสร้างแรงกดดันด้านการแข่งขันให้กับบริษัท สร้างผลกระทบให้กับแผนการลงทุนในระยะยาว ทั้งยังบั่นทอน “ความเชื่อมั่น” และ “ความสามารถของผู้ประกอบการในการคาดการณ์และวางแผนในอนาคต”

ด้านโฆษกของบริษัทอาดิดาสฯ จากเยอรมนี ซึ่งมีโรงงานในกัมพูชาผลิตผ้าผืนป้อนให้กับบริษัทถึง 22% ของทั้งหมดที่บริษัทใช้อยู่ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดสำหรับผ้าผืนของอาดิดาส บอกว่า บริษัทกำลังศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสิทธิพิเศษของอียู

ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจ 20 แห่งในกัมพูชา ซึ่งรวมถึงหอการค้ายุโรปในกัมพูชาได้ร่วมกันลงนามในจดหมายยื่นต่อคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงความ “เสียใจ” และความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการตัดสินใจของอียูในครั้งนี้ โดยระบุว่า การถูกตัดสิทธิจีเอสพี
จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า(ที่ถูกตัดสิทธิ) ในกัมพูชาพุ่งสูงขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวม 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 4,340 ล้านบาท 

อียูเป็นตลาดใหญ่สำหรับกัมพูชา โดย 45% ของสินค้าทั้งหมดที่กัมพูชาส่งออก เป็นการส่งออกไปตลาดอียู ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 กัมพูชาส่งออกไปอียูทั้งสิ้น 5,200 ล้านยูโร ในจำนวนนี้เกือบๆ 90% เป็นเสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์การเดินทาง

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

แบรนด์แฟชั่นโอด ต้นทุนผลิตในกัมพูชาพุ่ง