TKผลประกอบการเพิ่ม25.8%จ่ายปันผล0.55 บาท/หุ้น

03 มี.ค. 2563 | 08:01 น.

ฐิติกรหรือ TKเผยผลประกอบการปี 62 กำไรสุทธิ 504.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8% จาก 401.1 ล้านบาทในปี 2561 ประกาศจ่ายปันผล 0.55 บาท/หุ้น นับเป็นกำไรสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ฝ่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตแบบชะลอตัว  ย้ำเดินหน้าลุยตลาดต่างประเทศตามเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ

 

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เผยว่าจากการ ดำเนินงานประจำปี 2562 ที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจในประเทศภาพรวมเติบโตแบบชะลอตัว ทำให้การขยายตัวของ GDP ลดลง 2.4% จาก 4.1% ในปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออกที่หดตัวจากหลายสาเหตุ รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงกับการบริโภคภายในประเทศ  รวมทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ลดลง 3.9% เหลือ 1,719,373 คัน ในปีที่ผ่านมา 

อีกทั้งหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 79.1% ของ GDP ในไตรมาส 3 ปี 2562 อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายเพิ่มความเข้มงวด   ในการปล่อยสินเชื่อและควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่องของ TK ช่วยให้ผลการดำเนินงานในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 504.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8% จาก 401.1 ล้านบาท ในปี 2561 นับเป็นกำไรสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 275 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา54.5% ของกำไรสุทธิ โดยจะปิดสมุดพักการโอนหุ้นเพื่อรับเงินปันผลในวันที่ 12 มีนาคม 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12  พฤษภาคม 2563 นี้

“ในปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถมีกำไรสุทธิรวมเพิ่มขึ้น จากการรายได้อื่น ๆ จำนวน 731.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จาก 670 ล้านบาทในปีก่อน เนื่องจากคุณภาพลูกหนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น พร้อมทั้งการบริหารจัดการติดตามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้รายได้อื่น ๆ เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลบวกกับผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ อีกด้วย ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมในปี 2562 จำนวน 3,086.0 ล้านบาท ลดลง 8.2% จาก 3,359.9 ล้านบาท ในปีก่อน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมลดลง 13.7% จาก 2,163.8 ล้านบาท เหลือ 1,866.8 ล้านบาท 

TKผลประกอบการเพิ่ม25.8%จ่ายปันผล0.55 บาท/หุ้น

จากการที่บริษัทฯ มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการนำ Digital Technology เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการมากขึ้น รวมทั้งมีการบริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม รายได้รวมปี 2562 จำนวน 3,719.1 ล้านบาท ลดลง 3.9% จาก 3,871.8 ล้านบาท ส่วนรายได้เช่าซื้อ ปี 2562 จำนวน 2,966.6 ล้านบาท ลดลง 6.4% จาก 3,170.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ TK เน้นคุณภาพลูกหนี้เป็นปัจจัยหลัก ในธุรกิจภายในประเทศ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ในขณะนี้ และจะยังคงเร่งการขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง ตามทิศทางของบริษัทที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดดังกล่าว” นางสาวปฐมากล่าว

ทางด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 7,438.6 ล้านบาท ลดลง 20.6% จาก 9,372.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 9,163.3 ล้านบาท ลดลง 13.4% จาก 10,578.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหนี้สินรวม 3,839.7 ล้านบาท ลดลง 30.2% จาก 5,500.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีผ่านมา และในไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ผ่านมา 

จนถึงสิ้นปี บริษัทมีโครงการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสำหรับลูกค้าชั้นดี ที่มีการผ่อนชำระค่างวดเช่าซื้อมาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของค่างวดรายเดือนที่ทำสัญญาเช่าซื้อทั้งหมด  และยังมีการผ่อนชำระค่างวดอย่างสม่ำเสมอ  แต่อาจมีการชำระล่าช้าจนมียอดค้างชำระบางส่วน โดยบริษัทฯ ไม่ได้ลดการตั้งสำรองของลูกค้าในกลุ่มนี้ เป็นผลให้การตั้งสำรองของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 เป็นจำนวน 632.5 ล้านบาท บวกกับ General Reserve 1% (77.1 ล้านบาท)  รวมเป็นสำรองลูกหนี้ 709.6 ล้านบาท และมีค่าเผื่อสำรองลูกหนี้สงสัยจะสูญต่อลูกหนี้รวมที่ 8.7% และ มีลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนที่ 4.5% ส่งผลให้ Coverage Ratio อยู่ที่ 193.5%

TKผลประกอบการเพิ่ม25.8%จ่ายปันผล0.55 บาท/หุ้น

 “จะเห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส สุดท้ายของปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  จากมาตรการที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและการควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด  และบริษัทยังคงนโยบายเร่งตัดหนี้สูญสำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่มีการชำระค่างวดไม่สม่ำเสมอ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะในสถานการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจ  ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ในขณะนี้ ซ้ำเติมจากภัยแล้งและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน”

สำหรับการขยายตลาดไปในต่างประเทศ ปัจจุบัน TK มีบริษัทลูกดำเนินธุรกิจอยู่ใน 3 ประเทศ คือ บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในราชอาณากัมพูชา และสปป. ลาว และบริการ Micro Finance ในสหภาพเมียนมา ในปี 2562 ที่ผ่านมามีสัดส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากต่างประเทศ 17.8% ของลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งหมด ซึ่งเติบโต 36.3% จากปีก่อนหน้านี้ โดยบริษัทฯ มีแผนเพิ่มจำนวนสาขาให้บริการในทั้ง 3 ประเทศ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาในต่างประเทศรวม 21 สาขา ภายในสิ้นปี 2563 นี้ นอกจากนี้ TK ยังคงมองหาโอกาสในการเร่งขยายตลาดเดิมและเปิดตลาดใหม่ ๆ เมื่อมีโอกาสและจังหวะที่เหมาะสม นายประพลกล่าวทิ้งท้าย