ขับเคลื่อนแบบสตาร์ตอัพ โตแบบ “คราฟท์ ไฮนซ์”

07 มี.ค. 2563 | 03:45 น.

ในตลาดเครื่องปรุงรส ซอสไฮนซ์ ถือเป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักมานาน และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัท คราฟท์ ไฮนซ์ จำกัด ได้เริ่มขยับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดบิสิเนตยูนิสใหม่ พร้อมส่ง “โจอาว เกเบรียล เลเตา” กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอแพคและการส่งออก สิงคโปร์และกรุงเทพฯ เข้ามาทำหน้าที่ก่อร่างสร้างบิสิเนสยูนิตใหม่ ที่รับผิดชอบงานด้านการเทรดดิ้งและการส่งออกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมทั้งปลุกปั้นธุรกิจในไทยให้ขยายเติบโตมากยิ่งขึ้น  

“โจอาว” เริ่มเข้ามารับหน้าที่ใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 จากก่อนหน้านั้น ที่เคยเป็นผู้จัดการทั่วไป หัวหน้าฝ่ายการค้าปลีกและการบูรณาการ ที่ออสเตรเลีย และหัวหน้าฝ่ายการวิเคราะห์และการวางแผนด้านการเงิน ที่สหรัฐอเมริกา หน้าที่รับผิดชอบใหม่ คือ การดูแลด้านงบประมาณและการดำเนินงานของคราฟท์ ไฮนซ์ ใน 12 อาณาเขตทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน บังกลาเทศ กัมพูชา ลาว และ สิงคโปร์ รวมถึงธุรกิจสินค้าส่งออกใน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และอินโดนีเซีย

โจอาว เกเบรียลเลเตา

โจทย์ใหญ่ที่ได้รับ คือ การผลักดันให้องค์กรเติบโตได้เท่าตัว ภายในระยะเวลา 5 ปี

“โจอาว” ยอมรับว่า เป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมาก และไม่ง่ายเลย เพราะเดิมทีคราฟท์ ไฮนซ์ ในประเทศไทย ไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่เมื่อเขาเข้ามารับหน้าที่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็เริ่มรับคนเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งมีทั้งคนที่ได้รับการโปรโมตจากภายใน และการคัดเลือกจากภายนอก เพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปตามเป้า

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ บอกเลยว่า ความสำคัญของการสร้างแบรนด์ คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค ต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาดให้ได้ด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ (integrity) และอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ คือ บุคลากร

เพราะฉะนั้น นอกจากเพิ่มบุคลากรที่มีศักยภาพเข้าสู่องค์กรแล้ว เขายังเดินหน้าพัฒนาบุคลากรทั้งหมด มีการจัดคอร์สออนไลน์เทรนนิ่ง พร้อมกับพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skill) และออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของบุคลากรที่ต้องการเติบโตในสายงานต่างๆ โดยไม่ปิดกั้นการเติบโตของทุกคน และพร้อมส่งเสริมอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในองค์กรของคราฟท์ ไฮนซ์ มีบุคลากรที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ และเพศ การบริหารจัดการด้านความเท่าเทียม (Diversity) จะช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีมที่ดี ซึ่งจะนำมาสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีของงานและองค์กร

ขับเคลื่อนแบบสตาร์ตอัพ โตแบบ “คราฟท์ ไฮนซ์”

นอกจากส่งเสริมการพัฒนาทักษะ และการเติบโต รวมไปถึงความเท่าเทียมแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน เอื้อต่อการสื่อสารภายในองค์กร ในรูปแบบออฟฟิศแบบเปิด และพยายามลดลำดับชั้น (hierarchy) ไม่ทำงานเป็นไซโร โดยตัวเขาเองในฐานะผู้นำ ก็เปิดกว้างและรับฟังผู้ใต้บังคับบัญชาตลอดเวลา ซึ่งเป็นรูปแบบของการทำงานแบบสตาร์ตอัพ ที่มีลำดับชั้นให้น้อยที่สุด มีการระดมสมอง สร้างพลังในการทำงานอย่างเต็มที่ ในขณะที่แบ็กอัพของ คราฟท์ ไฮนซ์ คือ แบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่มากว่า 150 ปี  

ส่วนการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า “โจอาว” บอกว่า ในแต่ละครั้งที่เขาทำหน้าที่บริหารตลาด สิ่งที่เขาทำทุกวัน คือ การเรียนรู้ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เพื่อมองหาโอกาสทางการตลาด
และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด เขายกตัวอย่างสินค้า ซอสถั่วเหลือง เอบีซี ที่วางขายในตลาดอินโดนีเซีย เมื่อนำมาเปิดตลาดที่มาเลเซีย ที่ชอบซอสที่มีรสหวานน้อยกว่า ก็ต้องมีการพัฒนาปรับสูตร เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในมาเลเซีย

 

ความพยายามเปิดตลาดใหม่ๆ และขยายตลาดให้กับโปรดักต์แต่ละตัว ต้องอาศัยความเข้าใจผู้บริโภคในแต่ละประเทศอย่างเต็มที่ หลังจากนั้น เรื่องของนวัตกรรมคือสิ่งสำคัญ ที่จะพัฒนาสินค้าออกมาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ

ขับเคลื่อนแบบสตาร์ตอัพ โตแบบ “คราฟท์ ไฮนซ์”

และทั้งหมดนี่ คือ กลยุทธ์ของผู้บริหารหนุ่ม ที่จะผลักดันให้การเติบโตของ คราฟท์ ไฮนซ์ ในความรับผิดชอบ เป็นไปตามเป้าภายใน 5 ปี

 

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

ขับเคลื่อนแบบสตาร์ตอัพ โตแบบ “คราฟท์ ไฮนซ์”