โบรกคาดกนง.หั่นดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในครึ่งแรก

03 มี.ค. 2563 | 03:47 น.

โบรกฯคาดกนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งรวม 0.50% ในการประชุมเดือน 25 มี.ค.และ พ.ค. ตามทิศทางธนาคารกลางโลก หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนายังยืดเยื้อ หวั่นเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกเสี่ยงขยายตัวต่ำไม่ถึง 1%

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส หรือ ASPS กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา( โควิด-19 )ดาวน์ไซด์ที่เกิดขึ้นต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย  คาดจะส่งผลชัดเจนในไตรมาสแรกโดยเศรษฐกิจไทยQ1/ 63มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 1% ( YoY ) และคาดการจีดีพีปีนี้จะโตเพียง1.6% yoy  จากเดิมคาด 2.8% 

ภายใต้สมมติฐานการส่งออกปีนี้ติดลบ 1.5% จากเดิมคาดขยายตัว 0.5%, การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว1.5% เดิมคาด 3%, การบริโภคครัวเรือนปรับลงมาอยู่ที่ 1.7% จากเดิม 3%, การลงทุนภาครัฐปรับมาที่ 2%จาก 6% แต่ยังคงสมมุติฐาน การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 2.5% และค่าเงินบาท/ดอลลาร์อยู่ที่ 31 บาท 

อย่างไรก็ดีแม้เศรษฐกิจไทยปัจจุบันยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากในงวดไตรมาส 4/2562 จีดีพีขยายตัว1.6%yoy แต่ในรูปการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาส ( qoq )เพิ่มเพียง 0.2% ยังไม่ได้เดินไปสู่จุดเริ่มต้นของภาวะถดถอย (%qoq) ที่ต้องหดตัวต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแต่ละภาคการผลิตพบว่า บางอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว อาทิ ภาคเกษตร-ประมง, ไฟฟ้า, ก่อสร้าง รวมกันเป็นราว 11.6% ของจีดีพี และมีอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายถดถอยคือหดตัวไปแล้ว %QoQ 1 ไตรมาส หรือขยายตัว%QoQ ตํ่า คือกลุ่มการเงินและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมราว16% ของจีดีพี ดังนั้นหากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ยังยืดเยื้อยาวนาน จึงมีความเสี่ยงว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิภาคอสังหาริมทรัพย์, ค้าปลีก ฯลฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะหดตัว %QoQ ในไตรมาสที่1/63 - ไตรมาส2/63 ได้ 

ทั้งนี้ ASP คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ กนง. มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ระดับ 0.75% ต่อเนื่องจากเดือนก.พ. ขณะที่ตลาดเริ่มมีมุมมองว่าดอกเบี้ยไทยมีโอกาสลดต่อ สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) อายุ1 ปีปรับตัวลงต่อ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 0.92% ตํ่ากวาอัตราดอกเบี่ยนโยบายที่1% 

"สถิติที่ผ่านมาช่วงเกิดเศรษฐกิจถดถอยของไทย จะเห็นว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก่อนทุกครั้ง อาทิ ช่วงเกิดวิกฤติซัพไพรม์ เดือน ธ.ค. 2551 กนง.ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.75% เหลือ 1.25% และในช่วงวิกฤติการเมือง ในเดือนม.ค. 2556 - มี.ค. 2557 กนง.ก็ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันรวม 3 ครั้ง ลงจาก 2.75% เหลือ 2.0%

บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ยังคงมุมมองว่ากนง.จะทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง 0.25% สู่ระดับ 0.75% เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจไทยอ่อนแอและผลกระทบจากไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ซึ่งหากพัฒนาไปสู่การแพร่ระบาดระดับโลก มีความเป็นไปได้ที่กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเหลือ 0.50% จากระดับปัจจุบันที่ 1.00%

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในคร่ึ่งแรกของปี อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 1.0% YoY และจะเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ 0.75% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ และในกรณีเลวร้ายอาจจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ 0.50% ในการประชุมของกนง.วันที่ 20 พ.ค. 2563 หากการระบาดยังคงยืดเยื้อไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไปจนถึงเดือนพ.ค. นอกจากนี้ธปท. ยังอาจจะต้องคลายกฏเกณฑ์เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าปัจจุบัน

ขณะที่ตลาดเงินโลก ล่าสุดนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดได้ให้คำมั่นว่า เฟดจะใช้เครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อหนุนเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการแสดงความเห็นของนายพาวเวลทำให้นักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.นี้

เช่นเดียวกับนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนยันว่า BOJ จะใช้ความพยายามในทุกทางเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน ซึ่งรวมถึงการจัดหาสภาพคล่องอย่างเพียงพอ และสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดการเงินจะยังคงมีเสถียรภาพ