ปิดปี62 BA โกยกำไร อีก3สายขาดทุนรวมกัน1.45หมื่นล.

02 มี.ค. 2563 | 07:45 น.

ปิดฉากธุรกิจการบินปี2562 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯบางกอกแอร์เวย์ เป็นสายการบินเดียว ที่ยังคงทำกำไรได้ มีรายได้รวม 28,609ล้านบาท กำไรสุทธิ 356.7 ล้านบาท โดยมีรายได้จากขายเงินลงทุนระยะยาวในBDMS รวมถึงธุรกิจสนามบิน มาช่วยอุ้ม ขณะที่นกแอร์ การบินไทย ไทยแอร์เอเชียอ่วมขาดทุนรวมกันกว่า 1.45 หมื่นล.

++BAกำไร356 ล.

         บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ประกาศผลการดำเนินงานปี 2562 โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 28,609.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 356.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3

ปิดปี62 BA โกยกำไร อีก3สายขาดทุนรวมกัน1.45หมื่นล.

        นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 28,609.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 356.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยเป็นกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 350.8 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.17 บาทต่อหุ้น

ปิดปี62 BA โกยกำไร อีก3สายขาดทุนรวมกัน1.45หมื่นล.

       ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากกำไรการขายเงินลงทุนระยะยาวในหุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ระหว่างปี จำนวน 1,990.8 ล้านบาท และเงินปันผลรับที่ได้รับจากการลงทุน รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ซึ่งเติบโตในอัตราร้อยละ 6.6 อย่างไรก็ตาม รายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจสายการบินมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9

        เนื่องจากภาวะการแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยลดลงร้อยละ 5.8 โดยในปี 2562 บริษัทฯ มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 68.1 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนผู้โดยสารที่ขนส่งทั้งสิ้น 5.86 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
        ขณะที่อีก 3 สายการบิน คือ นกแอร์ การบินไทย และไทยแอร์เอเชีย ผลประกอบการในปี2562 ต่างขาดทุนกันถ้วนหน้า โดยการบินไทย ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท นกแอร์ ขาดทุน 1.59 พันล้านบาท และไทยแอร์เอเชีย ขาดทุน 871 ล้านบาท

ปิดปี62 BA โกยกำไร อีก3สายขาดทุนรวมกัน1.45หมื่นล.
 

++การบินไทยขาดทุน 1.2 หมื่นล.
         การบินไทย ขาดทุนสูงสุด โดยบริษัทฯและบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 448 ล้านบาท (3.9%) โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,042 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.52 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.19 บาทต่อหุ้น (3.6%) บริษัทฯต้องเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการทั้งจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ภัยธรรมชาติ การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี  การเข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ประกอบกับมีการรับรู้ค่าชดเชยตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 300 วันเป็น 400 วัน

        โดยในปี 2562 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาทหรือ 7.7% รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลงรวม 15,767 ล้านบาท (8.6%) สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 196,470  ล้านบาทต่ำกว่าปีก่อน 12,088  ล้านบาท (5.8%)นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการประมาณการเงินตอบแทนความชอบในการทำงานจำนวน 2,689 ล้านบาท
        ทั้งบริษัทฯ ได้รับรู้ค่าชดเชยเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่4) ที่กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ  20 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 400 วันและมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 634 ล้านบาท

 

ปิดปี62 BA โกยกำไร อีก3สายขาดทุนรวมกัน1.45หมื่นล.

++นกแอร์ขาดทุน 1.59 พันล.
            ขณะที่ นกแอร์ แม้ในปีนี้จะยังขาดทุนอยู่ แต่ก็ลดลงจากปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้นตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ

             นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  ผลการดำเนินงานปี 2562 บริษัท(ไม่รวมบริษัทย่อย) มีการขาดทุนอยู่ที่ 1,591.12 ล้านบาท ลดลง 813.72 ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็น 33.84% จากปี 2561 บริษัท(ไม่รวมบริษัทย่อย) มีการขาดทุนอยู่ที่ 2,404.84 ล้านบาท

         สำหรับปัจจัยที่ทำให้บริษัท(ไม่รวมบริษัทย่อย) มีการขาดทุนลดลง เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทำให้สามารถลดต้นทุนต่างๆได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนการลดค่าใช้จ่ายตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ

         พร้อมกันนี้บริษัทยังได้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบินให้ตรงต่อเวลา (On-time performance) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ค่าชดเชยสำหรับการล่าช้าของเที่ยวบิน (Flight delay) ลดลงอีกด้วย และบริษัทยังได้มีการนำอากาศยานที่มีอายุการใช้งานมากออกจากฝูงบิน ตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ ส่งผลให้ขนาดฝูงบินอากาศยานทั้งปี 2562 อยู่ที่ 24 ลำ ขณะเดียวกันบริษัทยังมีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 6.41% จากปี 2561 และมีต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (CASK) ลดลง 6.03% เมื่อกับปี 2561
ปิดปี62 BA โกยกำไร อีก3สายขาดทุนรวมกัน1.45หมื่นล.

++ไทยแอร์เอเชียขาดทุน871 ล.

          ในส่วนของ “สายการบินไทยแอร์เอเชีย” ปิดปี2562 ขาดทุน 871 ล้านบาท
            นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2562 ได้รับผลกระทบหลักมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น เหตุการณ์การประท้วงที่ฮ่องกง การแข็งค่าของค่าเงินบาทรวมถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความต้องการเดินทางน้อยกว่าที่่คาดการณ์ไว้

            เมื่อสรุปรวมทั้งปี 2562 AAV มีรายได้รวม 41,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีขาดทุนสุทธิ 474 ล้านบาท ในขณะที่ TAA มีรายได้รวม 41,551 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิ 871 ล้านบาท มีจำนวนการขนส่งผู้โดยสารรวม 22.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 85 เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลอดทั้งปีได้เปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ระยะทางการบินโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4  และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8

รายงาน : ธนวรรณ  วินัยเสถียร