เซ็น MOU 2มอเตอร์เวย์ 6.1หมื่นล้าน

02 มี.ค. 2563 | 07:27 น.

ทล.จับมือบีจีเอสอาร์ เซ็นสัญญา พ.ค.นี้ หวังบริหารโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์ 2 สาย พบข้อเสนอถูกปัดตก หลังขัดกฎหมายทางหลวง คาดเปิดให้บริการปี 66

 

 

 

 

 

นายปิยพงศ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการ กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กิโลเมตร (กม.) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม.เงินลงทุนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่า ขณะนี้ ทล.ได้เจรจารายละเอียดร่างสัญญาร่วมกับเอกชนผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ กิจกรรมร่วมค้า บีจีเอสอาร์ (BTS-GULF-STEC-RATCH) ได้ข้อสรุปแล้ว พร้อมส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

 

ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างรออัยการตรวจสอบร่างสัญญา ใช้เวลาประมาณ 45 วัน หลังจากนั้นต้องเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณากระบวนการราว 30 วัน จึงคาดว่าจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ส่วนขั้นตอนลงนามสัญญาก็น่าจะดำเนินการภายในเดือน พ.ค.2563”

 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ เป็นเอกชนที่เสนอราคาต่ำสุด แบ่งออกเป็นมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน โคราช ราคากลาง 33,258 ล้านบาท มีการเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 21,329 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 11,929 ล้านบาท ส่วนมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ กาญจนบุรี ราคากลาง 27,828 ล้านบาท เสนอต่ำสุด 17,809 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลางถึง 10,019 ล้านบาท

 

 

นายปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันหลังตรวจสอบข้อเสนอของเอกชนรายดังกล่าว พบว่าผ่านการพิจารณาในซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติและเทคนิค ขณะที่ซองราคา ก็มีการเสนอราคาประมูลต่ำสุด จึงเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาซอง 3 ข้อเสนอพิเศษ โดยพบว่าข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ขัดต่อข้อกฎหมายของกรมทางหลวง เนื่องจากเป็นประเด็นของการหารายได้เชิงพาณิชย์ เช่น หารายได้จากการเปิดรับสื่อโฆษณาประเภทป้าย เป็นต้น

 

ข้อเสนอพิเศษที่เอกชนยื่นมาก็ถือว่าน่าตื่นเต้นมาก แต่ก็มีบางข้อเสนอที่ต้องถูกปัดตกไป แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกรมทางหลวงในอนาคต เพราะเป็นการหารายได้นอกเหนือจากการจัดเก็บค่าผ่านทาง ดังนั้นหากเสนอไปยัง ครม.ก็จะต้องถูกปัดตกอยู่แล้ว

 

สำหรับข้อกฎหมายของกรมทางหลวง มีการกำหนดว่าต้องสร้างทาง และสามารถหารายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทาง รวมไปถึงพัฒนาที่พักริมทาง (Rest Area) เพื่อหารายได้จากการเช่าพื้นที่ได้เท่านั้น ส่างผลให้ข้อเสนอที่จะจัดหารายได้จากการเปิดรับพื้นที่โฆษณา จึงไม่เข้าข่ายกฎหมายรองรับ แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ทล.ก็เคยมีนโยบายที่จะแก้กฎหมายเพื่อจัดหารายได้ส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย

 

นอกจากนี้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ประกอบไปด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง โดยงานระยะแรกที่เอกชนจะต้องดำเนินการ คือ ออกแบบและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งระบบจัดการจราจร สร้างอาคารด่าน คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ส่วนระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา 30 ปี ซึ่งเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนหลังเปิดบริการตามวงเงินที่เสนอ

 

อย่างไรก็ตาม โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา งานโยธาคืบหน้าแล้วประมาณ 86.5% ก่อสร้างแล้วเสร็จ 20 สัญญา จากทั้งหมด 40 สัญญา ล่าช้ากว่าแผนราว 8% ขณะที่มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี งานโยธาคืบหน้า 24.5% ล่าช้ากว่าแผนราว 60.7% โดย ทล.คาดว่ามอเตอร์เวย์ทั้งสองสาย จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2566