ท่องเที่ยว เผาจริง ธุรกิจทยอยปิด เลย์ออฟ

01 มี.ค. 2563 | 23:10 น.

ไวรัสโควิด-19 พ่นพิษจับตาท่องเที่ยวนับจากมี.ค.นี้เข้าสู่สภาวะเผาจริง ธุรกิจทยอยปิดกิจการ-เลย์ออฟต่อเนื่อง หลังไร้แววกระเตื้อง บิ๊กธุรกิจเฮโลปรับลดเป้าปีนี้ติดลบ งัดมาตรการเซฟคอสต์ ให้พนักงานลางานโดยไม่รับค่าจ้าง หวังพยุงสถานการณ์รอไฮซีซันหน้า กระทรวงการท่องเที่ยวฯชงครม.อุ้มผู้ประกอบการ-แรงงานด่วน

นับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบันต่างชาติเที่ยวไทยลดลงไปแล้วกว่า 3 ล้านคน เฉพาะนักท่องเที่ยวจีน หายไปแล้วกว่า 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย(ททท.)ประเมินว่าไตรมาสแรกปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงถึง 45% จากปีก่อน

ท่องเที่ยว  เผาจริง  ธุรกิจทยอยปิด  เลย์ออฟ

ทั้งจากบุ๊กกิ้งใหม่นับจากเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปมีน้อยมาก และการระบาดที่กระจายไปเกือบทุกภูมิภาค ททท.คาดว่าตลอดทั้งปีนี้ต่างชาติจะหายไป 6 ล้านคน จากปีก่อน เหลืออยู่ 33 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2559 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 32.5 ล้านคน

การไร้สัญญาณกระเตื้อง ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวกำลังจะต้องเผชิญกับสภาวะเผาจริงกันแล้วนับจากเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ตอกยํ้าให้ธุรกิจทยอยปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่าง พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่

วันนี้มัคคุเทศก์กว่า 60% จากจำนวน 7-8 หมื่นคน ตกงาน นกแอร์และนกสกู๊ต ทยอยเลิกจ้างนักบินและลูกเรือไปแล้วร่วม 40 คน เรือท่องเที่ยวที่รับกรุ๊ปทัวร์จีนหยุดให้บริการ แหล่งท่องเที่ยว ร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมขนาดเล็ก ที่รับนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลักทยอยปิดกิจการต่อเนื่อง อาทิ มิราเคิล คาบาเรต์ เชียงใหม่, เลเจนด์ สยาม พัทยา ส่วนในจ.ภูเก็ต โรงแรมขนาด 40-50 ห้อง บริเวณถนนเจ้าฟ้าตะวันตก รวมไปถึงร้านค้าต่างๆโดยเฉพาะบริเวณวัดหลวงปู่สุภา

ส่วนโรงแรมและธุรกิจต่างๆที่ยังไม่ปิดกิจการ ก็ทยอยออกมาตรการขอความร่วมมือจากผู้บริหารและพนักงาน ในการลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without pay)เช่น บางกอกแอร์เวย์ส ขอให้ลาโดยไม่รับเงินเดือน 10-30 วัน เครือโรงแรมเซ็นทารา ขอให้พนักงานลาโดยไม่รับค่าจ้าง โดยจะหยุดกี่วันก็ได้ ในเดือนมีนาคมนี้ การทำงานสลับวันหยุด การปรับลดเวลาทำงาน คิงเพาเวอร์ ภูเก็ต ก็เปิดให้ช้าลงและปิดให้เร็วขึ้น คิงเพาเวอร์ศรีวารี ปิดให้บริการชั่วคราว

ท่องเที่ยว  เผาจริง  ธุรกิจทยอยปิด  เลย์ออฟ

ทั้งนี้เบื้องต้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงประมาณ 1.5 แสนราย อีกทั้งสถานการณ์จะยิ่งรุนแรงขึ้น หลังจากเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และกำลังเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ของไทยต่างทยอยปรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจลง โดย ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ปรับลดเป้ารายได้จากเติบโต10% เหลือติดลบ เครือเซ็นทาราก็อยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมาย จากเดิมตั้งเป้ารายได้ธุรกิจอาหารเติบโต 10% โรงแรมเติบโต 7-8% ก็น่าจะติดลบในปีนี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เผยว่านับจากเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปยอดการจองใหม่มีน้อยมาก ทำให้ธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากขึ้น ซึ่งในการประชุมครม. วันที่ 3 มีนาคมนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอครม.พิจารณา 5 มาตรการสนับ สนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน 5 เรื่อง 1.การเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ อาทิ ซอฟต์โลนวงเงินใหม่ โดยอาศัยแหล่งเงินทุนของกระทรวงการคลัง

ท่องเที่ยว  เผาจริง  ธุรกิจทยอยปิด  เลย์ออฟ

2.มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ผ่อนปรนชำระหนี้เงินต้นชั่วคราวสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 1 ปี ผ่อนปรนการชำระหนี้เงินต้นชั่วคราวสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเป็นเวลา 1 ปี ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 60% สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สูงสุด 1 ปี สินเชื่อบุคคลใหม่ 2 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 14% สำหรับอาชีพอิสระ เช่น ไกด์

3.มาตรการภาษีเพื่อพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาการจ้างงาน อาทิ ยืดการจ่ายค่าเช่าที่ดินรัฐ และ 5.โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน อาทิ อบรมไกด์ พนักงานโรงแรม จำนวน 1 แสนคน เหมาจ่ายคนละ 300 บาทต่อวัน อบรมราว 7-10 วัน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ.2563