ไวรัสลามเร็ว เศรษฐกิจโลก จ่อถดถอย

01 มี.ค. 2563 | 08:40 น.

การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ที่ลุกลามจากประเทศจีนออกไปยังประเทศ อื่นๆ เกือบ 50 ประเทศทั่วโลกในขณะนี้ เป็นปัจจัยลบซํ้าเติมให้เศรษฐกิจโลกเข้าใกล้ภาวะถดถอย (recession) เร็วยิ่งขึ้นโดยอาจได้เห็นในช่วงครึ่งแรกของปีหากการแพร่ระบาดจากคนสู่คนขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วทั่วโลกในระดับ “แพนเดอ มิก” (pandemic)

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน (CNHC) ชี้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลามไปยัง 49 ประเทศ(ณ 28 ก.พ. 63) ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 82,000 คน และเสียชีวิต 2,855 คนทั่วโลก มีรายงานยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งรายแรกในทวีปอเมริกาใต้พบที่บราซิลเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นผู้สูงวัยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากอิตาลี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ในภูมิภาคยุโรป (อิตาลีมีรายงานผู้เสียชีวิต 17 คน ติดเชื้อ 650 คน) ขณะที่อิหร่าน กลายเป็นประเทศศูนย์กลางแพร่เชื้อในตะวันออกกลาง จากการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง มีจำนวนประเทศที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกเพิ่มขึ้นถึง 10 ประเทศ รวมทั้งไนจีเรียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา

แม้ขณะนี้ WHO ยังไม่ได้ประกาศยกระดับการแพร่กระจายของโรคเป็นระดับแพนเดอมิก แต่ก็ได้แจ้งเตือนให้รัฐบาลทุกประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าว ความหวั่นวิตกในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นจากการเทขายหลักทรัพย์และการดำดิ่งลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในช่วงสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะหลักทรัพย์ของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตที่มีซัพพลายเชนในจีน

สำนักวิจัยมูดี้ส์ อะนาไลติกส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้หากการแพร่ระบาดลุกลามกระจายกว้างไปทั่วโลก (รายละเอียดข่าวหน้า 23) รัฐบาลหลายประเทศเร่งอัดฉีดงบพิเศษเพื่อรับมือการแพร่กระจายของไวรัสและนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเร็วๆนี้ (โดยหลักการคือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน) โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 1.6% คาดว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากเพิ่งมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อไม่นานซึ่งส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคแผ่วลง นอกจากนี้การส่งออกยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ตามด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวและค้าปลีก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในเดือนกรกฎาคมอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

อีกฟันเฟืองเศรษฐกิจโลกที่น่าจับตาคือเยอรมนี ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลงและผลกระทบจากสงครามการค้า บุนเดสแบงก์ หรือธนาคารกลางของเยอรมนี ออกมายอมรับต้นสัปดาห์นี้ว่า อุตสาหกรรมหลักๆของประเทศ ตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์จนถึงเคมีภัณฑ์ จะยังชะลอตัวต่อไปสะท้อนจากยอดสั่งซื้อที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

สถาบันวิจัยของมูดี้ส์คาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเยอรมนีน่าจะมีการเติบโตเพียง 0.3% และ 1% ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งปีที่ผ่านมาขยายตัวที่ระดับ 6% คาดว่าผลกระทบจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นจะทำให้การขยายตัวตลอดทั้งปีนี้อยู่ที่ระดับ 5.2% เท่านั้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าไตรมาสแรกของปีนี้ จีนซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะได้พบกับการขยายตัวในอัตราตํ่าที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3-4% ก็เป็นได้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ.2563