ราชกิจจาฯเผยแพร่อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง"ทักษิณ"คดีทีพีไอ 

28 ก.พ. 2563 | 12:44 น.

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำพิพากษาวินิจฉัยอุทธรณ์ ยืนยกฟ้อง"ทักษิณ"ดคีแทรกแซงทีพีไอ ถือเป็นที่สิ้นสุดยุติเด็ดขาด

 

วันนี้(28ก.พ.2563) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.4/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.6/2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ หรือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีแทรกแซงทีพีไอ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 
    

คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องจำเลย ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษา ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2562 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายืนยกฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีต นายกฯ พ้นผิดอาญา ม.157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีให้กระทรวงการคลังเข้าแทรกแซงฟื้นฟูกิจการ “ทีพีไอ” ผลตัดสินคดีถือเป็นที่สิ้นสุดยุติตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยคำพิพากษาวินิจฉัยอุทธรณ์นี้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137  ตอนที่ 16 ก วันที่ 28ก.พ.2563 ดังกล่าว
    

คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ส.ค.61 ยกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยกล่าวหาว่าเมื่อปี 2546 นายทักษิณขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เสนอให้กระทรวงการคลัง โดยมี ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ จำเลยร่วมกับ ร.อ.สุชาติยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน รวมทั้งเป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ เป็นผู้บริหารแผน
    

 

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องนายทักษิณแบบไม่มีตัวจำเลยเมื่อปี 2561 เนื่องจากหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ศาลพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ตามขั้นตอน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 มาตรา 28, 33, 59 ศาลออกหมายจับนายทักษิณแล้วไม่ได้ตัวมาศาล ชั้นพิจารณาจำเลยไม่มาศาล ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี และเป็นสำนวนคดีแรกในจำนวน 4 สำนวนที่อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ยื่นพิจารณาคดีไต่สวนลับหลังจำเลยตามวิ อม.ใหม่แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯมีคำพิพากษายกฟ้อง วันนี้มีเพียงผู้แทนโจทก์มาฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
    

ศาลเห็นว่า แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงให้อำนาจกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอลูกหนี้ก็ตาม แต่กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะรวมถึงการพยุงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิดความเสียหายมากจนยากแก่การแก้ไข การเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของประเทศเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากทีพีไอไม่สามารถฟื้นฟูได้และตกเป็นผู้ล้มละลาย กิจการเหล่านั้นอาจหยุดชะงัก ประเทศชาติและประชาชนย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พฤติการณ์ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วนที่กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการ เมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ กระทรวงการคลังจึงเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอได้
    

กรณี ป.ป.ช.โจทก์ อุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้ริเริ่มผลักดันสั่งการและเป็นตัวการร่วมไม่ทักท้วงการพิจารณาของ ครม. เปลี่ยนจากวาระเพื่อทราบ เป็นวาระเพื่อพิจารณา มีผลให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ โดยมีเจตนาครอบงำกิจการทีพีไอเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยเชิญตัวแทนของเจ้าหนี้และผู้บริหารของทีพีไอเข้าหารือที่บ้านพิษณุโลก เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการทีพีไอและตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่เท่านั้น ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เลือกกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามข้อเสนอของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุในคดี
    
 

ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่ตั้งบริษัทบริหารแผนไทย จำกัด เป็นผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยเห็นควรขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนหากกระทรวงการคลังยินยอม ท้ายที่สุดที่ประชุมเจ้าหนี้และทุกฝ่ายยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ หรือการบริหารกิจการ หรือเข้าไปรับโอนถือครองหุ้นของทีพีไอ จึงรับฟังไม่ได้ว่าการเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของจำเลยเป็นการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง
  

 สำหรับข้ออ้างที่ว่า การขายหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอให้แก่หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวง การคลัง และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กระทรวงการคลังคืนเงินค่าจ้างบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ที่บริหารจัดการกิจการทรัพย์สินของทีพีไอให้แก่ทีพีไอ ทำให้ทีพีไอและกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ หากทีพีไอหรือกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายก็อาจไปว่ากล่าวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป เมื่อไม่ปรากฏในทางไต่สวนว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น หรือมีพฤติการณ์ที่บ่งชี้ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษประสงค์ต่อผลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่ผิดตาม ม.157 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว การอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องผลคดีถือเป็นที่สุดยุติตามขั้นตอนของกฎหมาย