การเลือก CEO ในธุรกิจครอบครัว

26 มี.ค. 2563 | 14:00 น.

บิสิเนส แบ็กสเตจ

ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

([email protected])

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกเผชิญกับปัญหามากมาย ดังนั้นการศึกษาผู้นำธุรกิจครอบครัวจะช่วยให้เห็นถึงความแตกต่างของมุมมองและวิธีการเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการสืบทอดกิจการในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งการนำแผนสืบทอดกิจการมาใช้อยู่บ่อยครั้งชี้ให้เห็นว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญของการมีกระบวนการสืบทอดที่สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วและเป็นมืออาชีพ

จากการศึกษาในโครงการ The STEP 2019 Global Family Business Survey ซึ่งทำการสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวกว่า 1,834 ราย จาก 33 ประเทศ ใน 5 ภูมิภาคทั่วโลก ในช่วงตุลาคม .. 2018 -มีนาคม .. 2019 เปิดเผยว่า 70% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวยอมรับว่าไม่มีแผนการสืบทอดกิจการ อย่างไรก็ตาม 47% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวระบุว่ามีแผนฉุกเฉินในการสืบทอดกิจการกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเอาไว้แล้ว และแม้จะไม่มีแผนการสืบทอดกิจการอย่างเป็นทางการ แต่ 45% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวทั่วโลกระบุว่าโอกาสที่ธุรกิจจะอยู่ในมือของครอบครัวในอนาคตนั้นสูงมาก

อย่างไรก็ตามแนวโน้มนี้ลดลงในกลุ่มผู้นำธุรกิจครอบครัวที่อายุน้อยกว่าซึ่งเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจมีความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกกับธุรกิจครอบครัวน้อยกว่านั่นเอง เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าซีอีโอคนต่อไปจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือไม่37% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกระบุว่ามีความเป็นไปได้สูง ขณะที่ 43% บอกว่ามีโอกาสปานกลางและมีเพียง 20% เท่านั้นที่ไม่แน่ใจว่าซีอีโอคนต่อไปจะมาจากครอบครัวเจ้าของ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่น Generation X และรุ่น Millennial เชื่อว่ามีโอกาสที่ซีอีโอคนต่อไปจะเป็นสมาชิกในครอบครัวน้อยกว่าผู้นำรุ่น Silent Generation และรุ่น Baby Boomers

แม้ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะไม่มีแผนการสืบทอดกิจการอย่างเป็นทางการ แต่ผู้นำธุรกิจครอบครัวทั่วโลกรายงานว่าในอนาคตธุรกิจจะต้องเป็นของครอบครัวและมีโอกาสสูงที่ผู้นำจะเป็นซีอีโอที่เป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการเลือกซีอีโอคนต่อไป จึงมีการสอบถามถึงกระบวนการคัดเลือกซีอีโอ ซึ่งพบว่า 48% บอกว่าขึ้นอยู่กับระดับความสนใจในธุรกิจของแคนดิเดตในอนาคตและ 23% ระบุว่าจะเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด

การเลือก CEO ในธุรกิจครอบครัว

 

 

ขณะที่ 12% จะเลือกบุตรชายคนแรกตามบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีมาแต่เดิม ส่วนคำตอบที่เหลือได้แก่ ให้บอร์ดเป็นผู้ตัดสินใจ (11%) และ การใช้บริการบริษัทสรรหาจากภายนอก (1%) และ อื่น (5%) เป็นต้น โดยสรุปแล้วความมุ่งมั่นและความสามารถของผู้สืบทอดเป็นเกณฑ์หลักที่ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกจะใช้เป็นพื้นฐานในการคัดเลือกซีอีโอคนต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการเลือกซีอีโอคนต่อไปจากแนวคิดความเป็นลูกชายคนแรกแม้ว่าความนิยมจะลดลง แต่ก็ยังเป็นเทรนด์ที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อสำรวจลำดับการเกิดของซีอีโอคนปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีเพียง 27% ที่เป็นลูกคนที่ 2 และ 28% เป็นลูกคนที่ 3 หรือลำดับมากกว่านั้น ขณะที่พบว่า 45% ของซีอีโอคนปัจจุบันเป็นลูกคนแรก อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่าในตะวันออกกลางและแอฟริกามีซีอีโอที่เป็นลูกคนแรกเพียง 27%

สำหรับกระบวนการสืบทอดตำแหน่งซีอีโอในธุรกิจครอบครัวนั้นควรจะเป็นแบบเส้นตรงซึ่งหมายถึงการถ่ายโอนความเป็นผู้นำบริษัทจากสมาชิกในครอบครัวรุ่นปัจจุบัน (พ่อแม่) ไปสู่รุ่นต่อไป (ลูก) อย่างไรก็ตามการสืบทอดตำแหน่งไม่ได้ตรงไปตรงมาเสมอไป การสืบทอดตำแหน่งที่พบได้ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. การสืบทอดแบบเส้นตรง (Linear Succession) เป็นการถ่ายโอนความเป็นผู้นำบริษัทจากสมาชิกในครอบครัวรุ่นปัจจุบัน (พ่อแม่) ไปสู่รุ่นต่อไป (ลูก)

2. การสืบทอดแบบไม่ต่อเนื่อง (Discontinuous Succession) เป็นการกระโดดข้ามจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นอื่น เช่น ซีอีโอคนก่อนเป็นรุ่นที่ 1 ส่งต่อมาให้คนปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 3

3. การสืบทอดในรุ่นเดียวกัน (Intra- Generational Succession) เป็นการสืบทอดจากซีอีโอคนก่อนมาสู่ซีอีโอคนปัจจุบันซึ่งอยู่ในรุ่นเดียวกัน

4. การสืบทอดแบบย้อนกลับ (Reverse Succession) คือการที่ซีอีโอซึ่งเป็นคนรุ่นเก่ารับช่วงต่อมาจากซีอีโอที่เป็นคนรุ่นเด็กกว่า

เมื่อพิจารณาในแต่ละรุ่นพบว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่น Silent Generation (79%) และรุ่น Baby Boomers (55%) ระบุว่าการสืบทอดตำแหน่งส่วนใหญ่เป็นการสืบทอดภายในรุ่นเดียวกัน ขณะที่ รุ่น Generation X (61%) ระบุว่าการสืบทอดตำแหน่งก่อนหน้านี้เป็นแบบเส้นตรงและสำหรับรุ่น Millennials (78%) ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการสืบทอดแบบไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจยังบ่งชี้ว่าหากซีอีโอคนเก่ามีแผนการเกษียณอายุส่วนตัวเอาไว้แล้ว ทายาทของพวกเขาจะมีความพึงพอใจต่อกระบวนการสืบทอดตำแหน่งสูงกว่าคนที่ยังไม่มีแผนอะไรเลยอีกด้วย

 ที่มา: Calabro, A. and Valentino, A. 2019. STEP 2019 Global Family Business Survey. KPMG Enterprise.

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1-4 มีนาคม 2563