สศช.ชี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

28 ก.พ. 2563 | 05:41 น.

สภาพัฒน์ระบุสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังไตรมาสสี่อยู่ที่ 79.1%สูงสุดในรอบ 11ไตรมาส ขยายตัว 5.5% ชะลอตัวจากก่อนหน้าที่ 5.8%เผยเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อ เหตุเอ็นพีแอลเพื่อการอุปโภคบริโภคของแบงก์แตะ1.40แสนล้านบาทขยับขึ้น 16.7%จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสไตรมาส4 และภาพรวมปี2562  พบหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.5% ชะลอการขยายตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสามปี 2562 มีมูลค่า 13.24 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.5% ชะลอลงจาก 5.8% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและยานยนต์เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 79.1% สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน โดยหนี้ครัวเรือนที่มาจากผู้ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสถาบันรับฝากเงินปรับตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์ ตามลำดับ

ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสี่ ปี 2562 มีมูลค่า 140,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 2.90% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.81% ในไตรมาสก่อน ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ต้องติดตาม โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่ากับ 3.71% และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์ต่อยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 1.86% อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ต่อยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นปรับตัวลดลง แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น 

 

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งช่วงก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และหลังเป็นหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินปล่อยกู้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้กู้ในการผ่อนชำระหนี้โดยไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ (Affordability) มิติการเสริมสร้างความรู้และวินัยทางการเงินเพื่อให้ครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้อย่างเหมาะสม และมิติการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ โดยมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา อาทิ (1) การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต (ปี 2560) (2) การกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ปี 2560) (3) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (ปี 2562) ถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (4) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV ratio) และ (5) โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 (ปี 2563) 
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการผลักดันเพื่อดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทย  อาทิ  การกำหนดมาตรฐานวิธีการคำนวณสัดส่วนภาระหนี้ที่ผู้กู้มีทั้งหมดต่อรายได้ หรือ Debt Service Ratio (มาตรฐานกลาง DSR) และการผลักดันให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาวควรมีแนวทางรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพครู และเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการบริหารจัดการของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดหรือค่านิยมการสร้างรายได้ที่มาจากการลงทุนและเก็บออมทางการเงิน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้ ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่ครัวเรือน