จบแล้ว! ปมสัญญายุติค่าโง่ทางด่วน ถอนฟ้องครบ 17 คดี

27 ก.พ. 2563 | 10:18 น.

คมนาคมย้ำปมสัญญายุติค่าโง่ทางด่วน กทพ.-BEM ยื่นถอนฟ้องครบทั้ง 17 คดี   พร้อมเริ่มสัญญาฉบับใหม่เริ่ม 1 มี.ค.นี้

 

ความคืบหน้าการถอนฟ้องคดีข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม)  หลังลงนามแก้ไขสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการยื่นถอนฟ้องคดีที่มีข้อพิพาทระหว่างกันครบทั้งหมด 17 คดี  โดยขั้นตอนขณะนี้ถือว่าคดีที่เคยมีข้อพิพาทระหว่างกันจะสิ้นสุดลง เมื่อมีการยื่นถอนฟ้องถือว่าทั้งสองฝ่ายสละสิทธิ์ที่จะฟ้องคดีทั้งคู่ และตามมติ ครม.ก็สั่งการให้ยื่นฟ้องให้หมด เพื่อทำให้สัญญาใหม่มีผล 1 มี.ค.นี้ ดังนั้นตอนนี้ก็สามารถเริ่มสัญญาใหม่ได้ ไม่มีปัญหา

 

สำหรับการถอนฟ้องข้อพิพาทดังกล่าว เป็นไปตามมติ ครม.ที่เห็นชอบให้ดำเนินการ เพื่อแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ โดยปัจจุบันกระทรวงฯ ได้สอบถามไปยัง กทพ.ถึงความคืบหน้าของการถอนฟ้องคดี และขอทราบผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ในขณะเดียวกันเร่งรัดให้ กทพ.หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการกรณีการบันทึกบัญชีจากสัญญาที่จะแก้ไข โดยให้ กทพ.จัดทำบัญชีและรายงานการเงินตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป หากผลการดำเนินงานจากวิธีการทางบัญชี ส่งผลกระทบต่อการประเมินผลการดำเนินงานของ กทพ. ให้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

 

 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมั่นใจว่าขั้นตอนของการถอนฟ้องคดีข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายจะแล้วเสร็จทันต่อสัญญาฉบับใหม่ที่จะมีผลในวันที่ 1 มี.ค.นี้ กรณีถอนฟ้องไม่ทัน และทำให้สัญญาไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ กทพ.ก็จะเจรจากับบีอีเอ็ม โดยอาจใช้วิธีอื่น เช่น ให้บีอีเอ็ม บริหารโครงการไปก่อน แต่จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ จนกว่าสัญญาจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

 

รายงานข่าวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ตัวแทนสหภาพฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะตุลาการศาลปกครองคดี เนื่องจาก สร.กทพ.เล็งเห็นว่า มติ ครม.ดังกล่าวอาจเป็นมติที่วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยหรือพิพากษาที่ยังมิได้มีกฎหมายใดรองรับ เนื่องจากเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับในหลักการกับหน่วยงานของรัฐทั่วไป ย่อมมีผลผูกพันบรรทัดฐานการบริหารจัดการสัมปทานประเภทอื่นๆ ระหว่างภาครัฐกับเอกชน เป็นการเปิดช่องทางให้เอกชนยื่นข้อเรียกร้องระหว่างการบริหารสัญญามาเป็นสิทธิผูกขาด โดยการแปลงความเสี่ยงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจตุลาการจากศาลเพื่อความยุติธรรมอีกต่อไป  รวมถึง สร.กทพ.ขอให้องค์คณะตุลาการศาลพิจารณาคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และปกป้องสิทธิของประชาชนต่อการถอนคำฟ้องคดีของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และสัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) ตามแต่เห็นสมควร

 

นอกจากนี้ข้อมูลของการยื่นขอคุ้มครองของทาง สร.กทพ.นั้น พบว่าเกิดจากข้อสังเกตกรณีคำสั่งของ ครม.ที่สั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดย กทพ.ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้มีการถอนฟ้องข้อพิพาทที่มีกับ กทพ. ทั้งหมด ทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง อนุญาโตตุลาการ หรือขั้นตอนอื่นๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 28 ก.พ.2563 อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวทางการดำเนินงานของรัฐ อำนวยการต่อรองหรือสิทธิเรียกร้องของประชาชนอย่างรุนแรง เนื่องจากคดีส่วนใหญ่เป็นคดีการปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญา

 

 

โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึง ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน ปากเกร็ด ซึ่งเหตุแห่งคดีสืบเนื่องจากการตีความของสัญญาที่เห็นไม่ตรงกัน และการดำเนินการปรับอัตราค่าผ่านทางที่มา กทพ. ได้สอบถามความเห็นจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งในฐานะหน่วยงานของรัฐถือได้ว่าเป็นการปรับอัตราค่าผ่านทาง ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และเอกชนก็ได้รับผลประโยชน์ด้วยอีกทางหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาข้อต่อสู้ของแต่ละคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง พนักงานอัยการสูงสุด อัยการสูงสุด ตลอดจนคณะกรรมการพิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ.2561 ยังไม่เคยได้พิจารณาหรือให้ความเห็นว่ากรณีคดีของหน่วยงานของรัฐอยู่ในฐานะเสียเปรียบหรือการดำเนินคดีไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือคุ้มค่า หรือมีการแจ้งฐานะคดีและเห็นควรยุติเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด