เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “ทองคำ” เทรนด์ธุรกิจที่โลกต้องการ (จบ)

13 มี.ค. 2563 | 08:20 น.

 

เมื่อเราเปลี่ยนมุมมองว่า “ขยะ” นั้นแท้จริงแล้วคือ “ทรัพยากร” ที่มีคุณค่าและสามารถนำมาสร้างประโยชน์เพิ่มพูนมูลค่าได้อีก จึงก่อให้เกิดธุรกิจเปลี่ยนขยะเป็นทองคำดังกล่าวมาแล้วในตอนแรก บริษัท สุเอซ กรุ๊ปฯ (SUEZ Group) เป็นหนึ่งในบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลขยะรายใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีโรงงานรีไซเคิลวัสดุถึง 9 แห่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และกำลังจะมีแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศไทยในปีนี้ในนาม “สุเอซ เอเชีย” เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นโพลิเมอร์หมุนเวียน (Circular Polymer) ที่มีคุณภาพดี สามารถนำไปผลิตสินค้าต่างๆ ได้อีก

เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “ทองคำ” เทรนด์ธุรกิจที่โลกต้องการ (จบ)

ในแต่ละปีสุเอซ กรุ๊ป สามารถนำขยะพลาสติกราว 500,000 ตัน มาเข้ากระบวนการรีไซเคิลกลายเป็นโพลิเมอร์คุณภาพดีประมาณ 150,000 ตันที่นำไปใช้ในการผลิตขวดแชมพู ชิ้นส่วนตกแต่งภายในห้องโดยสารรถยนต์ และบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ นับเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติกอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง หรือในการวิจัยของ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาวิธีการที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกมูลค่าต่ำให้กลายเป็นวัสดุรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เรียกว่า “แอโรเจล” (aerogel) มีน้ำหนักเบามาก สามารถใช้เป็นวัสดุป้องกันการซึมเปื้อนในผ้าอ้อมสำเร็จรูป รวมทั้งใช้เป็นวัสดุเกาะจับ  (ทำความสะอาด) คราบน้ำมันที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล เป็นต้น นักวิจัยกล่าวว่า ขยะขวดพลาสติก 8 ขวด สามารถนำมาใช้ผลิตแผ่นแอโรเจลได้ขนาด 1 ตารางเมตร ปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัยจับมือกับบริษัทเอกชน 2 ราย คือ บริษัท บรองซ์คัลเจอร์ ในสิงคโปร์ และบริษัท ดีพีเอ็น แอโรเจล เจเอสซีฯ นำสิทธิบัตรดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าออกสู่ตลาด

 

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เล่นรายใหญ่ในแวดวงพลาสติกและเคมีภัณฑ์ระดับโลกอย่าง ดาว เคมิคอล ยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่นำขยะพลาสติกมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลทำเป็นวัสดุทำถนนซึ่งมีการใช้งานจริงแล้วในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย

 

นอกจากวัสดุทำถนนแล้ว ขยะพลาสติกยังสามารถแปลงร่างกลายเป็นวัสดุก่อสร้างรูปแบบอื่นๆ เช่น ก้อนอิฐ บริษัท คิวบ์ฯ (Qube) ในประเทศอินเดีย ได้คิดค้นพัฒนาก้อนอิฐที่ทำมาจากขยะพลาสติกล้วนๆ เรียกว่าอิฐ “พลาสติกคิวบ์” (PlastiQube) ซึ่งมีต้นทุนผลิตต่ำกว่าและใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตน้อยกว่าอิฐทั่วไป

เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “ทองคำ” เทรนด์ธุรกิจที่โลกต้องการ (จบ)

และที่จะลืมไม่ได้คือนวัตกรรมการนำขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำดื่ม หรืออวนพลาสติก มาเข้ากระบวนการรีไซเคิลทำเป็นเส้นใยทอเสื้อผ้า วิวัฒนาการเหล่านี้ทำให้ในบางประเทศ เช่น อินเดีย มีโครงการขยะแลกคูปอง โดยประชาชนสามารถนำขวดพลาสติกมาแลกคูปองสำหรับนำไปซื้อสินค้าลดราคา บริษัท รีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์ฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีอันดับ 1 ของอินเดีย เผยว่าในแต่ละปีบริษัทสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกถึง 2,000 ล้านขวด หรือคิดเป็นน้ำหนักรวมถึง 33,000 ตัน คาดว่าสมรรถนะดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นได้อีก 2 เท่าในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้า “ขยะพลาสติก 100 ตัน สามารถนำมารีไซเคิลเป็นวัสดุทำถนนได้ยาวถึง 40 กิโลเมตร”

 

คราวหน้าถ้าจะทิ้งขวดพลาสติกใช้แล้ว ให้คิดเสมอว่าอย่าโยนเงินทองทิ้งไปเปล่าๆ เก็บไว้ขายได้ประโยชน์กว่า

 

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “ทองคำ” เทรนด์ธุรกิจที่โลกต้องการ (จบ)