คอร์น เฟอร์รี่ ชี้องค์กรไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมทรานสฟอร์ม

25 ก.พ. 2563 | 12:46 น.

คอร์น เฟอร์รี่ เผยการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถทั่วโลก มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าบริษัทไทยส่วนใหญ่ ยังไม่พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัล และขาดแผนงานหรือกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจ้างงาน

คอร์น เฟอร์รี่ ระบุแนวทางการสรรหาบุคลากรผู้มีความสามารถทั่วโลกในปี 2020 โดยวิเคราะห์จากข้อมูลการสรรหาและพัฒนาบุคลากร รวมถึงความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดค่าตอบแทนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย รายงาน Korn Ferry Emerging Global Talent Trends for 2020 ได้ระบุถึงแนวโน้มใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงข้อเสนอแนะสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจ้างงาน และการปรับปรุงกระบวนการสรรหาบุคลากร สำหรับผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลในเมืองไทย

คอร์น เฟอร์รี่ ชี้องค์กรไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมทรานสฟอร์ม

นางทาเนีย เบอร์เจอร์ส หัวหน้าธุรกิจแสวงหาบุคลากร คอร์น เฟอร์รี่ ประเทศไทย กล่าวว่า กระบวนการด้านทรัพยากรบุคคลในประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ผนวกกับแนวโน้มด้านตลาดงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อพร้อมทรานส์ฟอร์มตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย มักจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่าองค์กรภายในประเทศ และบริษัทเหล่านี้มักจะเล็งเห็นถึงความจำเป็น ที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลง 

ในขณะที่บริษัทไทย เริ่มมีแนวคิดที่เปิดกว้างมากขึ้น มีการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาจากภายนอก เนื่องจากผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกับมืออาชีพ ที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญใหม่ๆ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถทำความเข้าใจ และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้การจ้างงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่น่าแปลกใจคือ องค์กรหลายแห่งยังไม่มีความพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนการทำงานไปสู่ระบบดิจิทัล และยังไม่มีแผนงาน หรือกลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจ้างงาน ทำให้การสรรหาบุคลากรที่เหมาะสมตามที่ต้องการเป็นไปได้อย่างยากลำบาก"

องค์กรต่างๆ อาจต้องเริ่มพิจารณาถึงปัจจัยและแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยในการปรับปรุงกระบวนการสรรหา เช่น การพิจารณากลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถและศักยภาพสูงภายในองค์กร การเลือก ‘คนที่ใช่’ สำหรับตำแหน่งงาน ซึ่งไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ความรู้ความสามารถเชิงเทคนิค แต่ต้องดูทักษะด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ทักษะในการบริหารจัดการทีมงาน ทักษะในการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ความสามารถในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง หรือ ทักษะทางด้านอารมณ์ 

ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยในปัจจุบันคือ การที่องค์กรพยายามสรรหาผู้บริหารซึ่งมีความชำนาญและชั่วโมงบินสูงในธุรกิจนั้นๆ แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรก็พยายามที่จะมองหาผู้บริหารซึ่งมีประสบการณ์ ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่โลกดิจิทัลไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งผู้บริหารที่สามารถตอบโจทย์ขององค์กรทั้งสองส่วนนี้ได้ มักจะมีอยู่จำกัดและไม่สามารถสร้างหรือพัฒนาภายในองค์กรได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว 

นอกจากนั้น การจัดรูปแบบโครงสร้างองค์กรที่ยังเต็มไปด้วยลำดับขั้น และการกำหนดขั้นตอนการทำงานที่สลับซับซ้อน ยังเป็นตัวถ่วงในการตัดสินใจอีกด้วย
 
ในส่วนของการจ้างงาน ทาเนีย เบอร์เจอร์ส กล่าวเสริมว่า ผู้สรรหาบุคลากรในประเทศไทย ต่างมองหาผู้สมัครที่มีทักษะและคุณสมบัติอื่นๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากทักษะเชิงเทคนิค อาทิ ความสามารถในการเป็นตัวแทนของบริษัท ในการถ่ายทอดปรัชญาและค่านิยมในการดำเนินงานของบริษัท ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงาน รวมถึงความสามารถของผู้สมัครที่จะช่วยกำหนดคุณค่าของพนักงานให้แก่องค์กรได้ เพราะฉะนั้น การสรรหาบุคลากรในปัจจุบัน จึงไม่ได้เป็นแค่การพยายามหาบุคลากรมาบรรจุในตำแหน่งงานที่ว่างอยู่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีในระยะยาวกับพนักงานอีกด้วย