สคร.ลั่นAOTต้องหารายได้ชดเชย

26 ก.พ. 2563 | 23:55 น.

 สคร.ระบุ ไม่ก้าวก่าย AOT ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสนามบินนาน 2 ปีลั่นหากรายได้หายไปเยอะ ต้องหารายได้อื่นชดเชยแทน

มติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยาน 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวง .เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยปรับลดค่าตอบ แทนให้กับผู้ประกอบการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563-31 มีนาคม 2565 ซึ่งมีการประเมินกันว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อรายได้ของทอท. 6% ของรายได้จากการดำเนินงานปี 2562 หรือกว่า 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้มาตรการแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มแรก ปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนแบบคงที่รายเดือน หรือ ค่าเช่า 20% เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563-31 มกราคม 2564

สำหรับปีถัดไป ทอท.จะทบทวนอัตราการปรับลดดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ กลุ่มที่ 2 สำหรับสัญญาที่ไม่ได้มีผลตอบแทนคงที่ บอร์ด ทอท. มีมติยกเว้นการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่ารายเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่ารายปี โดยคงไว้เพียงผลตอบแทนในอัตราร้อยละ หรือเปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 2 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 - 31 มีนาคม 2565 และกลุ่มที่ 3 เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน และยกเว้นค่าปรับจากการขอเลื่อนชำระเงินดังกล่าวให้ผู้ประกอบการเป็นเวลา 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2563 กรณีผู้ประกอบการร้องขอผ่อนผัน

ประภาศ คงเอียด

 

 

 

 

 

 

 

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องบริหารจัดการภายในองค์กรในการประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบอร์ด AOT เป็นผู้พิจารณาเอง เพื่อไม่ให้ผิดหลักธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ โดยสคร.จะไม่ได้เข้าไปกำกับดูแลทุกขั้นตอนเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่นเหมือนกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ที่สคร.สามารถเข้าไปกำกับดูแลทั้งบริหารงานและการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้มีรายได้ส่งเข้ารัฐตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้

อย่างไรก็ตามในฐานะที่สคร.เป็นผู้ที่ดูแลรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของ AOT อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในรูปแบบของผลประกอบการและผลกำไรที่จะมีต่อเงินปันผลที่กระทรวงการคลังจะได้รับ ดังนั้นหากการดำเนินการดังกล่าวกระทบต่อผลประกอบการและกำไรมากจนเกินไป สคร.ต้องประสานงานไปยัง AOT ให้ชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวและรับทราบถึงแนวทางในการหารายได้ด้านอื่นเข้ามาชดเชยแทนด้วย

 

เราคงไม่ถึงขั้นต้องไปออกหนังสือเตือน AOT ที่มีมาตรการแบบนี้ออกมา เราจะไม่ก้าวก่าย แต่ถ้าการดำเนินการที่ออกมามีผลกับประกอบการและกำไรของบริษัทมากๆ ทางสคร.อาจต้องประสานไปยัง AOT สอบถามถึงสาเหตุว่า มีความจำเป็นมากนัอยแค่ไหนในการออกมาตรการนี้ และจะมีแนวทางในการหารายได้เพิ่มส่วนอื่นมาทดแทนได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะถูกกำกับโดยผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ดังนั้นการจะดำเนินการใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการประกอบการ บริษัทจะต้องชี้แจงผู้ถือหุ้นให้ได้ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่น่ามีอะไรที่เป็นห่วงมากนัก ขณะเดียวกันทางสคร.มีการทบทวนเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบว่ารัฐวิสาหกิจรายใดมีปัญหาการนำส่งรายได้ ทางสคร.ก็จะปรับแนวทางเพื่อหารายได้จากหน่วยงานอื่นมาเสริมแทน เพื่อให้จัดเก็บได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการจัดเก็บรายได้ปีงบ ประมาณ 2563 สคร.ยังตั้งเป้าไว้ที่ 188,800 ล้านบาท โดยผลจัดเก็บล่าสุดวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 95,635 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของเป้าหมายแล้ว

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563