กพท.ยกระดับเฝ้าระวัง “โคโรนา”

25 ก.พ. 2563 | 11:12 น.

ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 5

ตามที่มีรายงานของทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีแนวโน้มรุนแรงและมีการแพร่กระจายของโรคไปยังหลายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (Emergency Committee convened by the WHO Director-General under the International Health Regulations (IHR 2005)

กพท.ยกระดับเฝ้าระวัง “โคโรนา”

มีมติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern; PHEIC) นั้น เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคดังกล่าว และเพื่อเป็นการรวบรวมมาตรการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ประกาศตั้งแต่ฉบับที่ 1-4 รวบรวมอยู่ในฉบับนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันถึงข้อมูลสำคัญและแนวทางปฏิบัติสำหรับการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ World Health Organization (WHO) ดังนี้

1. ประเทศและเขตปกครองพิเศษที่มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการจาก World Health Organization (WHO) ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ได้แก่
ทวีปเอเชีย
– สาธารณรัฐประชาชนจีน
– ราชอาณาจักรไทย
– สาธารณรัฐสิงคโปร์
– ญี่ปุ่น
– สาธารณรัฐเกาหลี
– มาเลเซีย
– สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
– เครือรัฐออสเตรเลีย
– สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
– ราชอาณาจักรกัมพูชา
– สาธารณรัฐอินเดีย
– ราชอาณาจักรเนปาล
– สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
– สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
– สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
– รัฐอิสราเอล
– สาธารณรัฐเลบานอน
– รัฐคูเวต
ทวีปอเมริกา
– สหรัฐอเมริกา
– แคนาดา
ทวีปยุโรป
– สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
– สาธารณรัฐฝรั่งเศส
– สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
– สาธารณรัฐอิตาลี
– สหพันธรัฐรัสเซีย
– ราชอาณาจักรสเปน
– ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม
– สาธารณรัฐฟินแลนด์
– ราชอาณาจักรสวีเดน
ทวีปแอฟริกา
– สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
เขตปกครองพิเศษ
– ไต้หวัน
– เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
– เขตบริหารพิเศษมาเก๊า

2. ข้อมูลสำคัญของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
2.1 ขณะนี้มีการยืนยันแล้วว่าโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ (Human-to-Human Transmission) และยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้


2.2 ระหว่างเดินทางในต่างประเทศ ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน
2.3 หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วยหรือตาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี
2.4 หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
2.5 ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

กพท.ยกระดับเฝ้าระวัง “โคโรนา”
2.6 รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2.7 หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมและมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการจากสถานีต้นทางในประเทศหรือเขตปกครองพิเศษตาม 1. ทำการตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยการสังเกต หากพบผู้โดยสารมีอาการไข้หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ณ สถานีต้นทางนั้นทันที หากการวินิจฉัยเห็นว่ามีความเสี่ยง ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสารนั้น

4. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการจากสถานีต้นทางในประเทศไทยไปยังประเทศหรือเขตปกครองพิเศษตาม 1. พิจารณาดำเนินการตาม 3. ตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อสถานการณ์ และติดตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อของหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศหรือเขตปกครองพิเศษปลายทางดังกล่าวด้วย

5. ขณะอยู่บนอากาศยาน ในกรณีที่พบผู้โดยสารที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการดังนี้
5.1 ให้ลูกเรือพิจารณาใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง (Personal Protective Equipment; PPE) ที่อยูใน Universal Precaution Kit
5.2 ให้ผู้โดยสารที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วย ผู้โดยสารที่อยู่ในแถวเดียวกับผู้โดยสารดังกล่าว รวมทั้งแถวข้างเคียงในสองแถวหน้าและสองแถวหลังสวมหน้ากากอนามัย (Medical Mask) และหมั่นทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ (Alcohol-based hand rub)

กพท.ยกระดับเฝ้าระวัง “โคโรนา”
5.3 ในกรณีที่มีที่ว่าง ให้ย้ายผู้โดยสารที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยออกห่างจากผู้โดยสารอื่น ระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
5.4 ให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้โดยสารที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศที่สถานีปลายทางทราบ เพื่อรายงานให้แก่ท่าอากาศยานปลายทาง พร้อมทั้งกรอกรายละเอียดลงในแบบฟอร์มดังต่อไปนี้ ส่งให้เจ้าหน้าที่ ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ ณ ท่าอากาศยานทุกแห่ง
5.4.1 General Declaration (ตาม Appendix 1. to ICAO Annex 9)
5.4.2 Public Health Passenger Locator Form (ตาม Appendix 13. to ICAO Annex 9)

6. ถ้ามีความจำเป็นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับรายงานตาม 5.4 ให้ท่าอากาศยานพิจารณาจัดลานจอดอากาศยานที่แยกออกมา (Isolated Aircraft Parking Position) เพื่อประโยชน์ในการกักกันโรคให้กับอากาศยานที่มีผู้โดยสารตาม 5.4

7. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งแนวทางปฏิบัติดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีต้นทางและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานให้ทราบและถือปฏิบัติ และให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานประกาศเพิ่มเติมบนอากาศยานให้ผู้โดยสารได้รับทราบโดยทั่วกันด้วย

ทั้งนี้ จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไป หรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม

ประกาศ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นายจุฬา สุขมานพ
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย