IATA ชี้โคโรนาทุบรายได้แอร์ไลน์เกือบ 9 แสนล้าน

21 ก.พ. 2563 | 09:21 น.

 

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (International Air Transport Association: IATA) เปิดเผยวานนี้ (20 ก.พ.) ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ซึ่งทำให้เกิดโรคปอดอักเสบและสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศของโลกในภาพรวม ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี หรือนับตั้งปี 2552 เป็นต้นมา และคาดว่าจะทำให้ธุรกิจสายการบินของโลกต้องสูญเสียรายได้มากกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 899,000 ล้านบาทในปีนี้

IATA ชี้โคโรนาทุบรายได้แอร์ไลน์เกือบ 9 แสนล้าน

ทั้งนี้ การที่บริษัทเอกชนหลายรายระงับการเดินทางระหว่างประเทศของพนักงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการที่รัฐบาลนานาประเทศออกประกาศเตือนประชาชนให้ระงับการเดินทางไปยังประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้บริษัทสายการบินจำเป็นต้องปรับตารางการบินโดยมีทั้งการระงับบริการและลดจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออกประเทศจีนลงอย่างมาก

 

IATA ชี้โคโรนาทุบรายได้แอร์ไลน์เกือบ 9 แสนล้าน

ไออาต้าประมาณการณ์ว่า ผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อการเดินทางของผู้คนทั่วโลกในครั้งนี้ จะทำให้ธุรกิจสายการบินต้องสูญเสียรายได้รวมกันมากกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 899,000 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสูญเสียของสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

ทั้งนี้ ในส่วนของสายการบินสัญชาติจีนคาดว่าความสูญเสีย (ในแง่รายได้) ของปีนี้ จะอยู่ที่ 12,800 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 396,800 ล้านบาท ไออาต้าซึ่งมีสมาชิกเป็นสายการบินของนานาประเทศ เคยประมาณการว่า ความต้องการเดินทางทางอากาศในปี 2563 นี้จะมีการขยายตัวที่อัตรา 4.1% แต่เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ได้มีการปรับตัวเลขประมาณการใหม่ โดยคาดว่าความต้องการเดินทางจะลดลงที่อัตรา 0.6% ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 11 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา  แม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้จะยังกระจุกตัวในประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่หากมีการแพร่ระบาดในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ผลกระทบต่อแวดวงการบินโลกก็จะทบทวีมากขึ้นตามไปด้วย

อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอคซ์  ผู้อำนวยการใหญ่ของไออาต้า

อย่างไรก็ตาม ไออาต้าประเมินสถานการณ์โดยอ้างอิงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส (SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ในปี 2546 ซึ่งกราฟผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่ออุปสงค์การเดินทางมีลักษณะเป็นรูปตัววี (V) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการเดินทางลดดิ่งลงในช่วง 6 เดือนที่เกิดการแพร่ระบาด แต่หลังจากที่ควบคุมโรคได้ ความต้องการเดินทางก็ฟื้นตัวแบบพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราเท่าเทียมกัน

 

อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอคซ์  ผู้อำนวยการใหญ่ของไออาต้าให้ความเห็นว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนส่งทางอากาศของโลก การหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ขณะนี้สายการบินต่างๆกำลังปฏิบัติตัวตามแนวทางข้อชี้แนะขององค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานอื่นๆด้านสาธารณสุข เป้าหมายก็เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารทุกคน และเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโลก ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องให้บริการเพื่อเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน

 

“เป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในการตัดสินใจ หลายสายการบินต้องลดการให้บริการ และบางกรณีก็ต้องลดเที่ยวบิน หากค่าเชื้อเพลิงปรับลดลงมาก็จะช่วยชดเชยความสูญเสียในส่วนของรายได้ที่หายไป นี่คือปีที่ลำบากสาหัสสำหรับอุตสาหกรรมการบิน” หัวเรือใหญ่ของไออาต้ากล่าวทิ้งท้าย